โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สรุปการเสวนาป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่16"เราอยากได้นายกเทศมนตรีนครลำปางอย่างไร?"

โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ 16 "เราอยากได้นายกเทศมนตรีนครลำปางอย่างไร?"
















การเสวนาป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ 16 ผ่านไปเรียบร้อยแล้วค่ะ "เราอยากได้นายกเทศมนตรีนครลำปางอย่างไร?"
ผู้เข้าร่วมเสวนาตามคำเชื้อเชิญ มีดังนี้ คือคุณอนุศิษฏ์ ภูวเศรษฐ (ประธานหอการค้าภาคเหนือตอนบน) อ.วราภรณ์ มณีเทศ (ข้าราชการบำนาญและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโยนก) คุณวัชรินทร์ บุญศรีวงค์(อาชีพค้าขาย) ส่วนคุณชาตรี ทาไชยวงศ์ ตัวแทนสื่อมวลชน ได้แจ้งมาว่าป่วยจึงไม่ได้เข้าร่วมเสวนา ผู้ตำเนินรายการคือคุณพรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล

ต้องขอบคุณ อาจารย์สายฝน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางเป็นอย่างยิ่ง ที่นำคณะนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้
ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองท่านคือคุณเกรียงศักดิ์ วนชยางกูล และดร.นิมิตร จิวะสันติกาล ไม่ได้มาร่วมรับฟังการเสวนาตามที่คณะทำงานมีหนังสือเรียนเชิญไป อาจเพราะเกรงว่าจะเกิดการพาดพิงและทำให้เกิดการกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้งโดยไม่ตั้งใจ...ก็เป็นได้ ไม่งั้นพวกเราอาจต้องไปเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่ากันอีก

ได้ความคิดเห็นที่น่าสนใจจากคุณอนุศิษฐ์ ว่า นายกเทศมนตรีนครลำปาง คนใหม่ควรเป็นคนมีความสามารถในการบริหารงบประมาณที่มีอยู่และยังสามารถดึงงบจากส่วนกลางมาได้ด้วย พัฒนาการท่องเที่ยวลำปางซึ่งเรามีดีอยู่มากมายแต่ทำไมนักท่องเที่ยวจึงมักเลยไปเชียงใหม่เชียงรายซะนั่น มันเป็นรายได้งามๆที่คนลำปางคนจะได้จากการบริการนักท่องเที่ยว อีกปัญหาหนึ่งคือการแข่งขันการค้าระหว่างพ่อค้ารายเล็กรายน้อยกับบริษัทค้าปลีกต่างชาติที่เข้ามาแย่งลูกค้าแบบชนจมูกอยู่หน้าตลาดว่า ทางเทศบาลควรจัดการตลาดสดให้มีคุณภาพ และทำอย่างไรให้สะดวกซื้อเพื่อแข่งขันกับเขาได้ รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียด้วย

อาจารย์วราภรณ์ ท่านใส่ใจเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด การจราจร หาที่จอดรถยากมาก เช่นผู้จะมาใช้บริการสถานที่ราชการต่างๆ โรงพยาบาล ไม่มีที่จอดรถเพียงพอ เสนอให้เทศบาลหาที่หางบจัดสร้างอาคารจอดรถที่รองรับรถยนต์เพื่อผ่อนปัญหานี้ จัดระเบียบทางเท้า ไม่ใช่หน้าบ้านใครอยากทำอย่างไรก็ได้ ปัญหาเยาวชนก็สำคัญ จัดเวทีให้เยาวชนได้แสดงออก อาจจัดการแข่งขันกีฬาบ่อยขึ้น หรืออาจเป็นเวทีโต้วาทีระหว่างโรงเรียนก็ได้ เด็กๆจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แทนการไปมั่วสุม หรือติดเกมส์มากเกินไป อ้อ! อีกเรื่องสำคัญ เรื่องความซื่อสัตย์ ทางเทศบาลควรได้ชี้แจงการใช้จ่ายเงินในแต่ละโครงการสำคัญ โดยเฉพาะโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อแสดงความโปร่งใส โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียนเสียก่อน

คุณวัชรินทร์ อาจจะเป็นคนพูดน้อย(หรืออาจถูกแย่งพูดไปหมดแล้ว) ก็อยากให้นายกเทศมนตรีท่านใหม่สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวให้มากๆเช่นกัน รวมถึงใส่ใจเรื่องความสะอาดอีกด้วย

ส่วนผู้ร่วมเสวนาด้านล่างเวที อาจารย์สายฝนได้พูดถึงเรื่องความสะอาดและการแยกขยะ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งประสบความสำเร็จสูงในเรื่องการจัดการขยะ เพราะประชากรของเขารู้หน้าที่ แยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องมีถังขยะอยู่หน้าบ้าน รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีรถมารับขยะประเภทไหน เมื่อไหร่...คือประชากรมีจิตสำนึกด้วยนั่นเอง การจัดการขยะจึงจะสำเร็จผล เป็นตัวอย่างที่ดี นายกเทศมนตรีท่านใหม่คงต้องคิดหาวิธีอย่างไรให้คนลำปางเรามีจิตสำนึกด้วย อย่าเพียงแต่รอทางการเท่านั้น

ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว หนึ่งในคณะทำงานของเรา ก็ฝากการบ้านให้ท่านนายกเทศมนตรีท่านใหม่ไปพิจารณาหลายข้อด้วยกัน เรื่องการจราจรบนท้องถนนที่เราต้องใช้ร่วมกับรถม้าด้วย ฝากท่านไปจัดระเบียบรถม้าทั้งเรื่องการสัญจร และสถานีรถม้า ที่ส่งกลิ่นมูลม้าเหม็นบริเวณใกล้เคียงก่อให้เกิดมลภาวะทางจมูก เรื่องการจัดการบริการรถสาธารณะ เป็นไปได้ไหม? ลำปางจะมีรถเมล์บริการผู้โดยสารเพื่อช่วยแก้ปัญหารถติด และมลภาวะด้วย อีกเรื่องป้ายรณรงค์ ป้ายโฆษณาต่างๆที่ติดไปทั่วเมืองดูแล้วไร้ระเบียบ

นศ.จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความคิดเห็นที่น่าสนใจ น้องคนหนึ่งมาจากจังหวัดพิษณุโลก เห็นว่าบริเวณตลาดเทศบาลซึ่งมีนกมาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เป็นแหล่งเชื้อโรค และความสกปรก เนื่องจากขี้รดถนน และบางทีบนศีรษะคน หรือบางทีลงบนจานอาหาร เรื่องความสะอาดเป็นปัญหาพื้นฐานที่ควรเอาใจใส่มากกว่าเรื่องใหญ่ไกลตัว อาจารย์วราภรณ์เสริมว่าเทศบาลควรต้องทำความสะอาด ล้างถนน เป็นประจำด้วย

คุณภิญญพันธ์ คณะทำงานอีกผู้หนึ่ง และช่วยดูแลเว็บไซต์ของเราด้วย...หลังจากได้ฟังความเห็นจากหลายๆท่านแล้ว...กระตุกต่อมคิดเราว่า อย่าไปคาดหวังว่านักการเมืองเป็นเทวดาเพราะเขาก็คือคน มีผิดถูกชั่วดี แต่พวกเราประชาชนทุกคนแต่ละชุมชนต้องช่วยกันด้วย ต้องมีส่วนร่วมในการสำรวจตรวจสอบบ้านเมืองของเราด้วย และเห็นว่าหลังจากเลือกตั้งนายกเทศมนตรีแล้วจะเป็นใครก็แล้วแต่ เป็นไปได้ไหมจะให้มีวาระประชาชน มาพบปะประชาชน รับฟังปัญหา รวมถึงแจงการบริหารของท่านให้ประชาชนได้ทราบด้วย...ท่านนายกฯโปรดรับไว้พิจารณา

และอีกหลายท่านที่มาร่วมให้ความเห็น ทั้งเรื่องการทำงานของสมาชิกสภาเทศบาลด้วย อย่าถือเขาถือเรา แต่ละท่านคือฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องตรวจสอบผู้บริหาร สิ่งใดควรค้านก็ต้องค้าน อีกเรื่องการคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน น้ำไหล ไฟสว่าง

ทางคณะทำงานได้บันทึกการเสวนาเป็นดีวีดีไว้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งอุปกรณ์และทีมงานจากบริษัทนิยมพานิช ลำปาง(ขอบคุณหลายมา ณ ที่นี้ด้วย) และจะนำดีวีดีนี้มอบให้กับท่านนายกเทศมนตรีท่านใหม่ภายหลังจากทราบผลการเลือกตั้งแล้ว

อย่าลืมไปทำหน้าที่ของท่าน ในวันที่ 11 มกราคม 2552 กันโดยทั่วกัน...เราจะเรียกร้องสิทธิ์โดยไม่ทำหน้าที่ไม่ได้...สวัสดีค่ะ

ผู้สรุป...พรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลง ครั้งที่ ๑๖ เสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑

เราอยากได้นายกเทศมนตรีนครลำปางอย่างไร
วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒ เราชาวเทศบาลนครลำปางจะมาร่วมแรงร่วมใจเลือกตั้งนายกเทศบาลนครลำปางกันอีก เราอยากได้คนอย่างไร ทำงานอย่างไรถึงจะถูกใจเรา อยากได้แบบไหน เชิญมาร่วมพูดคุยกัน เสวนา แสดงความคิดเห็น โดยมีผู้ร่วมนำเสวนา ได้แก่ คุณอนุศิษฎ์ ภูวเศรษฐ ประธานหอการค้าภาคเหนือตอนบน , คุณชาตรี ทาไชยวงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ , อ.วราภรณ์ มณีเทศ ข้าราชการบำนาญ,อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยโยนก , คุณวัชรินทร์ บุญศรีวงค์ อาชีพค้าขาย โดยมี คุณพรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
หนึ่งทุ่มตรง หน้าทิพยอินน์เกสท์เฮาส์ กาดกองต้า
เสาร์ที่สามของเดือน ๒๐ ธันวา แล้วเจอกันะครับ
นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ทิศทางการท่องเที่ยวลำปางปี ๕๒


ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๕ ทิศทางการท่องเที่ยวลำปางปี ๕๒

ยามเย็นของวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ที่กาดกองต้า เริ่มด้วยฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว พอถึงเวลาหนึ่งทุ่มตรง ผู้ร่วมเสวนา คุณธนชัย พงษ์โสภาวิจิตร นายกสมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง , คุณทักษิณ อัครวิชัย ผอ.กองแผนและงบประมาณ อบจ.ลำปาง , อ.กิตติคุณ เกริงกำจรกิจ อาจารย์สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุลเป็นผู้ดำเนินเสวนา
เริ่มที่ ผอ.ทักษิณ เล่าถึงการสนับสนุนต่างๆของอบจ.ลำปาง ซึ่งมีงบประมาณราว ๑๘ ล้านบาทในการสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว แสดงวิสัยทัศน์ต่างๆถึงความเป็นได้ในการท่องเที่ยวของลำปาง และให้ความเห็นว่า จังหวัดควรประกาศให้การท่องเที่ยวเป็นวาระจังหวัด คุณธนชัย (โกคำ) เล่าถึงความเป็นมาการท่องเที่ยวของลำปาง การจัดอีเวนท์ (event) ความร่วมมือของส่วนต่างๆ ในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งยังต้องการความร่วมมืออีกมากในการให้เห็นภาพรวมของจังหวัด มิใช่ต่างคนต่างทำ
มีผู้ร่วมเสวนาต่างถิ่นถามว่าถ้าอยากทราบแหล่งท่องเที่ยวของลำปาง จะทราบได้อย่างไร มีผู้ตอบว่าหาทางอินเตอร์เนต แล้วจะมีสักกี่คนที่ใช้อินเตอร์เนต เราควรมีแผ่นพับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในลำปางอย่างแพร่หลาย สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ตามโรงแรมต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวควรมีที่ใหม่ๆ ด้วย เช่น วัดปงสนุก หล่มภูเขียว เกาะคาแมน เป็นต้น

ในประเด็นที่จะให้คนลำปางร่วมไม้ร่วมมือกัน ถามว่าใครควรเป็นหัวเรือใหญ๋ บางคนเสนอว่า ต้องผู้ว่าสิ มีคนตอบว่าได้ยินผู้ว่าอมรพันธุ์บอกว่า ท่านผู้ว่าจะเป็นหน่วยสนับสนุน แต่ต้องให้ชุมชน คนในพื้นที่เป็นหลัก ในการดำเนินการเรื่องการท่องเที่ยว หรือไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้คนร่วมมือกันอย่างจริงจัง พ.อ.สันดุษิต ดีบุกคำ ให้ความเห็นว่า ประการแรกต้องให้คนลำปางรู้จักตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง ถึงจะมีความกระตือรือร้นที่จะพูดถึงเมืองลำปาง มีแผนชุมชน ประการที่สอง ระดับจังหวัดต้องเล่นด้วยมีแผนแม่บท ประการที่สาม ต้องใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย เรียนรู้จากเขา คนที่จิตอาสามีอยู่ อาจจะไม่ต้องจ้างแพงๆก็ได้

มีคนพูดถึงประเด็นความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว เป้าหมายอาจไม่ไช่ต้องการคนมาเที่ยวมากๆอย่างเดียว ต้องรักษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านด้วย ท่านภราเดช พยัควิเชียร เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีชุมชนใดอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยวอย่างเดียว ชุมชนควรจะดำเนินตามวิถีของตนเอง ถ้ามีคนมาท่องเที่ยวเราก็มีรายได้เพิ่ม ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็ไม่เดือดร้อน อ.ประสงค์เล่าถึง หลวงพระบาง เนปาล การเดินทางก็ลำบาก มิได้สะดวกสบาย แต่มีคนไปเยี่ยมชมมากมาย เพราะเขารักษาวิถีชีวิตของเขา รักษาภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม ให้น่าอยู่ ไม่ทำลายธรรมชาติ ยกตัวอย่าง ฝรั่งแวะไปชมไร่สัปปะรดที่บ้านเสด็จ ดูท่าจะมีมากกว่าคนไปแวะอุทยานถ้ำผาไทเสียอีก ทำไม บางทีคนกำลังเกี่ยวข้าว ตีข้าว ดำนา ฝรั่งสนใจใหญ่ จอดรถ ถ่ายรูปกันเต็ม เราไม่ต้องแต่งอะไรมากมายเพื่อการท่องเที่ยว แต่ให้รักษาวิถีชีวิตไว้ เดี๋ยวการท่องเที่ยวจะตามมาเอง

มีการพูดถึงการจัดอีเวนท์ต่างๆของจังหวัด เช่น รถไฟรถม้า งานเซรามิก ว่าการเอาเงินมาทุ่ม เสียเปล่าหรือไม่ หรือเอาเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืน รักษาวิถีชีวิต เช่น บ้านควาย จังหวัดสุพรรณบุรี อนุรักษ์ควาย เอาควายมาไถนา ก็พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว ก็อย่าให้เสื่อมโทรม เช่น ภาพเขียน ๓,๐๐ ปี ที่บริเวณเจ้าพ่อประตูผา หรือ เกาะคาแมน ที่ดูจะเสื่อมไป ไม่รักษาสภาพต่างๆ ให้ดูเรียบร้อย น่าเยี่ยมชม แล้วมาถึง สกายวอร์คที่แจ้ช้อน ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง การจะรักษาให้คงอยู่ น่าเยี่ยมชม ต่อไปอย่างยั่งยืน มีเรื่องมากมายที่จะต้องกระทำ และมาเรียนรู้ร่วมกัน เช่นนี้ แหล่งท่องเที่ยวจะยั่งยืน ตราบจนลูก จนหลาน ให้ได้เก็บเกี่ยวกิน

ท้ายสุด ได้พูดถึง การมีมัคคุเทศน์รุ่นจิ๋ว ที่วัดไหล่หิน วัดปงสนุกที่ได้รับรางวัล merit of herritage แห่งเดียวของประเทศไทย ก็รับทราบมาว่า กำลังฝึกมัคคุเทศน์รุ่นจิ๋วอยู่เหมือนกัน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายในลำปาง ที่รอชุมชนช่วยดูแล และพัฒนา และอย่าลืม การร่วมมือของชาวลำปาง เพื่อลำปาง โดยมิได้สนใจว่าอยู่ในการเมืองฝ่ายใด เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๕ วันเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

ทิศทางการท่องเที่ยวลำปาง ปี ๕๒
ทุกครั้งป๊ะกั๋นยามแลงจะมีเสาร์ที่ ๓ ของเดือน แต่เนื่องจากเดือนนี้ตรงกับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพี่นาง จึงเลื่อนมาเป็นเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน
เรื่องที่จะพูดคุยกัน ว่าการท่องเที่ยวลำปางจะเน้นอะไร ถึงจะเติบโตแบบยั่งยืน และจะจัดการให้มีขึ้นอย่างไร คนท้องถิ่นจะเป็นแกนหลักในการดำเนินการท่องเที่ยวอย่างไร
โดยมีผู้ร่วมนำเสวนา คุณธนชัย พงษ์โสภาวิจิตร นายกสมาคมการท่องเที่ยวลำปาง
คุณถาวร บุปผาเจริญ ส.อบจ.เขตอ.เมือง ลำปาง
ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยว อบจ.ลำปาง
อ. อำนาจ กัลยา อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
คุณสุชาติ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการบริษัท สนุก สบาย แทรเวล จำกัด
นพ. โกมล ภัทรฤทธิกุล ผู้ดำเนินการเสวนา

หนึ่งทุ่มตรง ทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์ กาดกองต้า เสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ศกนี้

นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี
พิเศษสำหรับผู้ที่นั่งร่วมฟังเสวนาตลอดงาน มีหนังสือ"2ฝากแม่วัง 2ฝั่งนครลำปาง" แจกฟรี ๑๐ เล่ม
เป็นหนังสือที่รวมบทความโดย อ.ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น เป็นบรรณาธิการ ภายในเล่มมีบทความที่เล่าถึงลำปางเมืองเก่า ในมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลง ครั้งที่ ๑๔ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๑

โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ 14




เหตุการณ์เดือนตุลา ก้าวสำคัญของการเมืองไทย
เริ่มจากเอาวีดีทัศน์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา มาฉายให้ดู (ได้รับความอนุเคราะห์ จาก อ.ชัยวัฒน์ สุระวิชัย) ฉายไม่ทันจบดี ก็เริ่มเสวนากัน อ.ชัยวัฒน์ สุระวิชัย อดีตแกนนำ ๑๔ ตุลา ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว อดีตอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง คุณชาตรี ยศสมแสน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมืองเหนือ คุณวิรัตน์ เกิดผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เป็นผู้นำการเสวนา มี นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
อ.ชัยวัฒน์ เริ่มโยงถึงสิ่งที่อยากจะพูด ว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเดือนตุลาคม หรือ พฤษภาคม ล้วนเกิดจากมีผู้กระทำผิด แล้วไม่ได้ถูกลงโทษ สามารถลอยนวลอยู่บนสังคมต่อไปได้ จึงเกิดเหตุการณือยู่เรื่อยๆ แล้วเล่าถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม โดยมี คุณชาตรี คุณวิรัตน์ ก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย อ.ประสงค์ เล่าถึงคืนวันที่ ๕ ตุลา ๑๙ ความสยดสยองที่เกิดในวันที่ ๖ คุยเรื่อง พฤษภาทมิฬ คุยกันพอหอมปาก หอมคอ ก็คุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อ.มหาวิทยาลัยที่นั่งอยู่ด้านล่าง บอกว่า การเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยน มีคนคดโกงเหมือนเดิม มุ่งแต่รักษาอำนาจของตนเอง คุณวิรัตน์ บอกเป็นวงจร เลือกตั้ง ซื้อเสียง บริหารประเทศ คอรัปชั่น รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูณ แล้วก็วนมาที่จุดเดิม แต่บางคนบอกดีขึ้นนะ รัฐมนตรีติดคุก นายกรัฐมนตรีขึ้นศาล สมัยก่อนไม่ใช่มี อ.ชัยวัฒน์พูดถึงงบประมาณปีละเป็นล้านล้านบาท
คอรัปชั่นไปเกือบครึ่ง สูญเสียโอกาสของประเทศไปอย่างมหาศาล มีนักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า ทำไมวัยรุ่น เยาวชน ถึงไม่สนใจบ้านเมือง หรือ การเมือง ที่ผมมานั่งฟังถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก มีคนถามต่อว่าขณะนี้คนไทยกำลังทำอะไรอยู่ มีคนบอกว่า ร้อยละ ๗๐ กำลังดูละครกันอยู่ ทำไมถึงไม่มีตำราเรียน เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา แล้วจะให้นักเรียน รู้เรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองได้อย่างไร มีคนตอบว่าเพราะคนที่เกี่ยวข้องยังมีอำนาจอยู่ พูดถึงเรื่องประเด็นสื่อ ช่วง ๑๔ หรือ ๖ ตุลา สื่อ แทบจะชี้เป็นชี้ตายในเรื่องการรับรู้ของประชาชน ทุกวันนี้ ก็มีความสำคัญมาก แต่การที่มีสื่อหลายทางทำให้มีทางเลือกมากขึ้น แต่มีคนบอกว่าสื่อทีวี ฟรีทีวียังเสนอข่าวไม่ครบ และไม่ตรงความเป็นจริง คุณชาตรี บอกการเมืองจะดีขึ้น ถ้าคนมีจริยธรรมมากขึ้น ต้องนำจริยธรรมเข้าสู่ประชาชนให้มากที่สุด ครูต้องคุยเรื่องการเมืองให้นักเรียนฟัง มีคนบอกว่า ครูบางคนก็มีความคิดแคบทางด้านการเมือง แล้วจะทำอย่างไร คนด้านล่างเสนอว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราเอง ต้องเริ่มจากการเมืองใกล้ตัว ค่อยๆสร้าง ต้องเริ่มที่การศึกษาที่ดี แล้วเรามีระบบจัดการศึกษาที่ดี หรือยัง มีคนตอบว่ายัง บอกว่าต้องจัดเวทีแบบนี้บ่อยๆจะได้กระตุ้นให้มีการพูดคุยกัน ไปจัดในสถานศึกษาได้ยิ่งดี แล้วใครทำ คำตอบดูตีบตันสำหรับการเมืองไทย แต่ทุกคนก็บอกต้องช่วยกัน แล้วจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ก๊ะว่ากำเมืองจะตึ๊กแล้วก๊า?..มาฟังคำตอบ



หลังจากลุ้นอยู่ว่าฝนที่ตกลงมาในบ่ายแก่ๆวันเสาร์ที่ 20 กันยา 51 ซึ่งเป็นวันนัดพบครั้งที่ 13 ของป๊ะกั๋นยามแลง "ก๊ะว่ากำเมืองจะตึ๊กแล้วก๊า?" จะสร่างซาเมื่อไหร่..โชคดีวันนี้ฟ้าฝนเป็นใจ ฝนซาเม็ดไปก่อน 5 โมงเย็น กิจกรรมเราจึงได้เริ่มขึ้น..

ประมาณ 6 โมงเย็นน้องเยาวชนลำปางก็ได้ขึ้นเวทีบรรเลงดนตรี ชื่อวง Empty ยังเป็นน้องใหม่ค่ะ เวทีป๊ะกั๋นยามแลงตั้งใจว่าก่อนการเสวนาจะเริ่มในเวลาทุ่มตรงนั้น เราจะเปิดเวทีเพื่อเป็นที่ให้เด็กๆเยาวชนลำปางของเราได้มีเวทีแสดงความสามารถ อาจยังใหม่ การให้โอกาสคือการสร้างคนค่ะ ติดตามด้วยวงโฟล์คซองจาก นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ขึ้นเวทีนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

ทุ่มเศษนิดหน่อย เวทีเสวนาเริ่มต้น...โดยผู้ร่วมเสวนา..อ.อัมพร เทพปินตา รองประธานสภาวัฒนธรรม จ.ลำปาง...คุณพีรพงษ์ พอใจ ตัวแทนจากเครือข่ายสร้างสรรเด็กและเยาวชน จ.ลำปาง..ตัวแทนชาวบ้าน คุณบัวตอง ยอดกำลังและคุณทวี อุตมะ เดินทางมาจาก อ.ห้างฉัตร... โดยมีพรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล ดำเนินรายการค่ะ ( เดิมทีนั้นคุณพิมธิดา ดีบุกคำ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ แต่บังเอิญท่านป่วยกระทันหัน ขอให้หายป่วยเร็วๆนะคะ )

บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ทั้งบนเวทีและด้านล่างเวที มีผู้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจมากมาย และก็ได้รื้อฟื้นภาษิต"บ่าเก่า"หลายบทโดยผู้รู้หลายท่าน อ.อัมพร เทพปินตา,ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว หรือแม้แต่เยาวชนอย่างน้องพีรพงษ์ก็เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี

กล่าวโดยสรุป...เด็กรุ่นใหม่พูดคำเมืองกันน้อยลง แม้คุณพ่อ-คุณแม่จะเป็นคนเมืองแต่ส่วนใหญ่จะพูดภาษากลางกับลูก เด็กรุ่นยิ่งเล็กยิ่งพูดน้อยลง ร่วมกันคิดว่าอาจเกิดจากการที่คุณพ่อ-คุณแม่อาจกลัวลูกจะพูดภาษากลางซึ่งเป็นภาษาราชการไม่ชัด , ขาดความภูมิใจในความเป็นคนเมือง รู้สึกเหมือนเป็นคนบ้านนอก , มีการกดขี่กันทางภาษา เช่นคนพูดภาษากลางก็จะล้อเลียนคนพูดคำเมือง , ความรู้สึกของคนทั่วไปในเมืองกรุง ถ้าพูดถึงคำเมืองก็ต้องพูดแบบเชียงใหม่, หรือเมืองในเมืองก็จะล้อเมืองเถิน เมืองลื้อ เมืองยอง ฯลฯ จึงทำให้ขาดความมั่นใจในการพูดคำเมือง, โรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ภาษาถิ่น

วงเสวนาต่างให้ความสนใจและมีความเห็นว่าควรแล้วที่เราจะได้รื้อฟื้นให้เด็กรุ่นหลังได้พูดคำเมือง ไม่อายที่จะพูด ยิ่งพูดได้มากภาษาคือความได้เปรียบ โดยเปลี่ยนทัศนคติต่อการพูดคำเมืองเสียใหม่ ไม่กดขี่หรือล้อเลียนกัน ให้เห็นประโยชน์ที่เราสามารถพูดคำเมืองได้ , พี่บัวตองเสนอว่า โรงเรียนต่างๆให้นักเรียนแต่งชุดพื้นเมืองในวันศุกร์แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะให้มีการเรียนการสอนเป็นคำเมืองด้วย ซึ่ง อ.อัมพร เทพปินตาบอกว่าจะนำไปเรียนให้ท่านผู้ว่าฯทราบ เผื่อท่านจะเห็นชอบและให้เป็นนโยบายเพื่อการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้จริง คุณทวีย้ำอยากให้คนเมืองพูดคำเมือง แต่งตัวเมืองด้วยความภูมิใจ

สื่อมวลชนเองทั้งวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีท้องถิ่นก็มีบทบาทมากต่อการพูดและการฟังคำเมือง

ที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว..เป็นอันดับแรกที่จะทำให้เด็กพูดคำเมืองก็ควรพูดคำเมืองกับลูก น่าดีใจมีคุณแม่ท่านหนึ่งสารภาพว่าไม่ได้พูดคำเมืองกับลูกเลยทำให้ลูกสาวซึ่งมาร่วมฟังการเสวนาด้วยพูดคำเมืองไม่ได้ และต่อไปนี้จะไปพูดคำเมืองในบ้านกัน อาจยังพูดไม่ชัดไม่ถูกก็ไม่เป็นไร ของพรรค์นี้มันค่อยฝึกค่อยแก้ไขปรับปรุงกันไปได้

ต้องบอกว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจมาก หลากหลายความเห็น และจบลงตรงเวลาสามทุ่ม หวังว่าคำเมืองจะไม่"ตึ๊ก" อย่างน้อยก็รุ่นลูกรุ่นหลาน หากทุกฝ่ายมองเห็นคุณค่าและปรับทัศนคติ ให้ภาคภูมิในวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนของเรา ส่วนจะนานแค่ไหน..ก็อยู่ที่การปฏิบัติแล้วล่ะค่ะ ต้องขอบคุณทุกท่านที่มา " ป๊ะกั๋นยามแลง" นัดพบกันใหม่ครั้งต่อไป 18 ตุลาคม 51 ..

สรุปโดย...พรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๓ วันเสาร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๑


โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลง ครั้งที่ 13 "ก๊ะว่ากำเมืองจะตึ๊กแล้วก๊า ?"

ก๊ะว่ากำเมืองจะตึ๊กแล้วก๊า ?

จะพูดคุยกันในเรื่องการใช้คำเมืองของลำปางเรา
หนึ่งทุ่มตรง หน้าทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์
เสาร์ที่ ๒๐ กันยายน นี้

ผู้ร่วมนำเสวนา
อ.อัมพร เทพปินตา(รองประธานสภาวัฒนธรรมฯ)

คุณพีระพงษ์ พอใจ (เครือข่ายสร้างสรรเด็กและเยาวชนลำปาง) และตัวแทนชาวบ้าน
คุณพิมธิดา ดีบุกคำ ผู้ดำเนินการเสวนา


หกโมงเย็น ชมการแสดงดนตรีของเยาวชนลำปาง ก่อนการเสวนา

นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลงครบโหล วันเสาร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑






ออกลายศิลปะ.. จับเข่าคุยเรื่องศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี กับคนรุ่นใหม่ลำปาง

หลังจากดนตรีจาก Etc. Music meets Art เล่นจบ เตรียมจะเริ่มเสวนา ฝนก็ตกลงมา วงเสวนาจึงย้ายเข้ามาด้านในของทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์ อ.ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง อ.สุพจน์ ใจรวมกุล ผู้นำเสวนา และ คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้ดำเนินการเสวนา

ช่วงแรกคุณภิญญพันธุ์ ฉายภาพให้เห็นความเป็นมา เรื่องของศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ของเมืองลำปางเรา หลังจากนั้น อาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน ก็พูดคุย ด้านดนตรี อ.สุพจน์สนใจทางด้านดนตรีพื้นเมือง นำเด็กที่สนใจดนตรีจากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง มาฝึกฝนหลังเลิกเรียน และเสาร์ อาทิตย์ พยายามเปิดพื้นที่ด้านดนตรีพื้นเมือง ให้แก่เด็กๆ เยาวชน ให้ความเห็นว่า เพลง ดนตรีของลำปางเรามีเอกลักษณ์ของตัวเอง และหลากหลาย ถ้าไม่รีบช่วยกันเรียนรู้ สืบทอด ต่อไปมีโอกาสสูญหายได้ การให้มีพื้นที่สำหรับให้เด็กได้แสดงออก รวมทั้งดนตรีแบบอื่นๆด้วย การรวมกัน พูดคุยกัน ค่อยๆรวมกัน เริ่มจากเล็กๆก่อน แล้วจะขยายกันไปเองโดยธรรมชาติ ที่สำคัญต้องมีเวทีสำหรับการได้แสดงความสามารถ
เรื่องของวรรณกรรม อ.ศักดิ์สิทธิ์ เล่าว่าในอดีต ลำปางของเราก็มีนักเขียน แต่หลังๆมีน้อยเหลือเกิน
ในลำปางเรามีนิตยสาร ที่เป็นฟรีก๊อปปี้ อยู่หลายฉบับ พริบตา step magazine ซะป๊ะแมกกาซีน (neomax magazine- ผู้บันทึก) ซึ่งจะเป็นสนามให้นักเขียนมือใหม่ได้ลองส่งบทความดู แต่ต้องคำนึงถึงหลักไวยกรณ์ ความงดงามของภาษา และอื่นๆอีกหลายอย่างที่ต้องนึกถึง ถ้าเด็กๆได้มีโอกาส จะทำให้สนามนักเขียนในลำปางคึกคักขึ้น ไม่เงียบเหงาอย่างที่ผ่านมา การประกวดเรื่องสั้น ความเรียงในระดับจังหวัด จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กๆได้ซึมซับบรรยากาศในเรื่องของวรรณกรรม การใช้ภาษา การอ่านหนังสือของคนลำปางเรา
ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้วงวรรณกรรมบ้านเรารุดหน้า มากหรือน้อย การกระตุ้นให้เด็กได้อ่านหนังสือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการพัฒนาวรรณกรรมของบ้านเรา และกำลังคิดจะทำการประกวดหนังสือทำมือ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ชาวลำปางเรามีการพัฒนาด้านวรรณกรรมอีกทางหนึ่ง

ส่วนเรื่องงานศิลปะ เจ้าของร้านม้าหมุน ให้ความเห็นเมื่อก่อน งานแฮนด์เมด มีไม่มาก แต่พอทำทำไป เริ่มมีงานทำด้วยมือมากขึ้น จากหลายๆที่ ทั้งที่เป็นลักษณะของฝาก หรือของใช้ หรือบางทีก็มีเด็กนักเรียนให้มาช่วยคิดตัวการ์ตูนติดเสื้อ ก็ช่วยกันคิดกับเด็กนักเรียน ส่วนเรื่องของงานแสดงศิลปะ ก็อยากให้มีห้องหรือที่สำหรับแสดงงาน ถ้ามีหอศิลป์ก็จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ คงไม่มีใครอยากแสดงงานของตัวเองในต่างจังหวัด ถ้าบ้านเรามีที่แสดงงาน และมีจุดที่จะมาพูดคุยในเรื่องศิลปะ ดนตรี หรือ วรรณกรรม

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๒ วันเสาร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑


โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
โดย ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง แห่ง http://www.pribta.com/

เปิดพื้นที่ให้ศิลปะได้หายใจ เปิดหัวใจให้คนทำงาน ป๊ะกั๋นยามแลงครบโหล
"ออกลายศิลปะ" จับเข่าคุยเรื่องศิลปะและดนตรีกับคนรุ่นใหม่
ถกกันเรื่องดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมในหัวใจ
กับที่ว่างและโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า

หนึ่งทุ่มตรง หน้าทิพย์อินน์เกสต์เฮาส์ กาดกองต้า


นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

๑๙ กรกฎาคม ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๑


ทางเลือกใหม่ ภายใต้วิกฤตน้ำมันแพง ว่าด้วยรถโดยสารสาธารณะและจักรยาน

หนึ่งทุ่มเริ่มเสวนา คุณสุรพล ตันสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง คุณอดุลย์ พวงศรี ประธานสหกรณ์เดินรถลำปาง คุณธนชัย พงษ์โสภาวิจิตร นายกสมาคมท่องเที่ยวลำปาง โดยได้รับมอบหมายจากท่านชาย พานิชพรพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง คุณสอาด วิไลราษฎร์ นักวิชาการขนส่ง๖ว. จากขนส่งจังหวัดลำปาง คุณคงศักดิ์ อินทราชัย ตัวแทนชมรมจักรยานลำปาง และ นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

มีผู้เสนอว่า ปัจจุบันลำปางมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรถโดยสารสาธารณะ ในภาวะน้ำมันแพงและจะแพงขึ้นเรื่อยๆ การขาดวินัยจราจร ปัญหาความคับคั่งของรถในชั่วโมงเร่งด่วน การมีรถสาธารณะที่มาตรงป้าย ตรงเวลา จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ขนส่งบอกว่าในปัจจุบันตามกฏหมาย เรามีรถขนส่งสาธารณะตามที่สัมปทาน สาย๕ สาย๖ สาย๗ คือรถสี่ล้อที่วิ่งไปมาในเมืองนี้แหละ ถ้าวิ่งตามสายสัมปทาน จะเก็บค่าโดยสารได้ไม่เกิน ๑๓ บาท แต่ความเป็นจริง เรามีรถสี่ล้อคล้ายๆรถแท็กซี่ที่กรุงเทพ คือต้องบอกว่าจะไปไหน ราคาไม่แน่นอน แล้วแต่คนขับรถจะเรียก แต่ชาวลำปางต้องการรถสาธารณะที่วิ่งประจำทาง มีราคาที่แน่นอน ทางคุณอดุลย์ กล่าวว่าทางสหกรณ์กำลังจะให้รถสี่ล้อวิ่งในชั่วโมงที่เร่งด่วน ช่วงเช้า ๖ ถึง ๘ โมงเช้า ช่วงเย็น บ่าย ๓ ถึง ๕ โมงเย็น โดยจะวิ่งเป็น ๒ สาย สายแรก จาก ก้าวจาว ผ่านสถานีรถไฟ ดอนปาน โรงเรียนมัธยม ประชาวิทย์ เข้าห้าแยก ผ่านเข้าถนนบุญวาทย์ ศาลากลางเก่า อาชีวะ ผ่านโรงเรียนบุญวาทย์ ลำปางกัลยาณี ผ่านไก่ย่างภาณี เทศบาล ๔ เข้าห้าแยก กลับก้าวจาว

สายที่สอง จากก้าวจาว ผ่านศรีบุญเรือง โรงน้ำแข็ง อัศวิน ห้าแยก โรงพักตำรวจ หน้าเรือนจำ เข้าถนนสายกลาง ไปอัศวิน โรงน้ำแข็ง กลับ ก้าวจาว ถ้า งงๆ ก็คอยฟังการประชาสัมพันธือีกครั้งหนึ่ง โดยจะรับเฉพาะ นักเรียน ตลอดสาย ๗ บาท ในการเสวนา ก็ขอให้รับผู้ใหญ่ด้วย โดยการเก็บ ๑๐ บาท ทางสหกรณ์จะกลับไปพิจารณาดู มีคนเสนอว่าให้เส้นทางวิ่งตามตรอกซอกซอยให้ครอบคลุมมากกว่านี้ หรือให้มีสี่ล้อเลน เพือให้การวิ่งรถโดยสารสาธารณะเป็นไปโดยสะดวก สร้างความลำบากแก่รถส่วนบุคคล เพื่อจะได้มาใช้รถสาธารณะกันมากๆ ถนนก็จะโล่งเหมาะแก่การใช้จักรยาน มลพิษก็จะน้อยลง เมืองก็น่าอยู่ เหมาะกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว มีรถสาธารณะ จักรยาน รถม้า เป็นเมืองสงบ รักษาประเพณีวัฒนธรรมที่มาแต่เก่าก่อน ทางคุณสรุพลสนับสนุนว่า ช่วงแรกมีสองสายก่อน ถ้ามีคนใช้บริการมากๆ การเพิ่มเส้นทางก็มีความเป็นไปได้ ก็มีคนมองกลับกันว่า ถ้ารถสาธารณะที่มีตอบสนองต่อคนเมืองลำปาง คนลำปางนั่งได้ไม่ไปโรงเรียนสาย ไม่ไปที่ทำงานสาย รอไม่นานเกินไป ตรงตามเส้นทาง ตามเวลา จะมีคนใช้บริการมากขึ้นเอง หรือถ้าในช่วงแรก ได้ไม่คุ้มทุน ทางจังหวัด หรือเทศบาล ถ้าทำได้ เข้าไปช่วยสนับสนุน ให้รถโดยสารสาธารณะอยู่ได้ มีความปลอดภัย สะดวกสบายตามควร และค่าบริการก็รับได้ไม่ต้องใช้รถส่วนตัว เติมน้ำมันทีรู้สึกถูกขูดเลือดขูดเนื้อ

ส่วนในเรืองของจักรยาน คนบางส่วนรู้สึกว่าไม่ค่อยปลอดภัย ทางคุณคงศักดิ์ เสนอว่าให้ลองมาขี่จักรยานด้วยกันในวันอาทิตย์ เพื่อสร้างความคุ้นชิน จะรู้ว่าความรู้สึกเสียว(รู้สึกไม่ปลอดภัย)ไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน คุณธนชัย(โกคำ) เสนอว่าควรมีถนนจักรยานในวันอาทิตย์ ใครจะเข้าถนนเส้นนี้ต้องขี่จักรยานหรือเดินเข้า เพื่อเป็นการรณรงค์ แต่ก็ต้องฟังความเห็นของร้านค้าด้วย และจากสถิติ ผู้ได้รับอุบัติเหตุจากจักรยานแทบจะไม่มีเลย ถึงชนกันก็จะไม่เจ็บมาก ปลอดภัย ไม่ต้องเติมน้ำมันเสียตังค์ ไม่สร้างมลพิษ สุขภาพก็จะแข็งแรง เรื่องของเส้นทางจักรยาน ถ้าเราขี่จักรยานเราจะรู้ว่าในลำปางมีเส้นทางที่เหมาะสำหรับรถจักรยาน เส้นเลียบน้ำวัง หรืออีกหลายเส้นที่ขี่ด้วยความสบาย

ลำปางของเราเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มาก สามารถปรับเปลี่ยนได้ ถ้าพวกเราช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถสาธารณะ หรือจักรยาน แล้วเราจะมีเมืองที่สงบ ร่มรื่น เดินทางไปไหนมาไหนสะดวกสบาย

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลง ครั้งที่ ๑๑


โปสเตอร์ ป๊ะกั๋นยามแลง ครั้งที่ 11
ออกแบบเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551


ทางเลือกใหม่ ภายใต้วิกฤตน้ำมันแพง ว่าด้วยรถโดยสารสาธารณะและจักรยาน
วันเสาร์ที่ ๑๙ กรกฏาคม ศกนี้ ๑ ทุ่มตรง ที่หน้าทิพย์อินน์เกสต์เฮาส์ กาดกองต้า
จะเรียนเชิญ ขนส่งจังหวัด สหกรณ์เดินรถ ชมรมจักรยาน และเทศบาล และทำหนังสือเชิญทางจังหวัดร่วมนำเสวนา
ขอเชิญผู้สนใจทุกท่าน ที่อยากให้ลำปางของเรา มีรถโดยสารสาธารณะและจักรยาน เป็นตัวหลักในการสัญจรไปมา
มาร่ามกันเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี
...............................
แก้ไขล่าสุด 15 กรกฎาคม 2551

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ประมวลภาพ "ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ 10 : ลำปางจะเตรียมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไร"











ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ 10 : ลำปางจะเตรียมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไร
วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2551 (ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน)
ณ ทิพย์อินน์ เกสต์เฮาส์ กาดกองต้า