โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ทิศทางการท่องเที่ยวลำปางปี ๕๒


ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๕ ทิศทางการท่องเที่ยวลำปางปี ๕๒

ยามเย็นของวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ที่กาดกองต้า เริ่มด้วยฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว พอถึงเวลาหนึ่งทุ่มตรง ผู้ร่วมเสวนา คุณธนชัย พงษ์โสภาวิจิตร นายกสมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง , คุณทักษิณ อัครวิชัย ผอ.กองแผนและงบประมาณ อบจ.ลำปาง , อ.กิตติคุณ เกริงกำจรกิจ อาจารย์สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุลเป็นผู้ดำเนินเสวนา
เริ่มที่ ผอ.ทักษิณ เล่าถึงการสนับสนุนต่างๆของอบจ.ลำปาง ซึ่งมีงบประมาณราว ๑๘ ล้านบาทในการสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว แสดงวิสัยทัศน์ต่างๆถึงความเป็นได้ในการท่องเที่ยวของลำปาง และให้ความเห็นว่า จังหวัดควรประกาศให้การท่องเที่ยวเป็นวาระจังหวัด คุณธนชัย (โกคำ) เล่าถึงความเป็นมาการท่องเที่ยวของลำปาง การจัดอีเวนท์ (event) ความร่วมมือของส่วนต่างๆ ในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งยังต้องการความร่วมมืออีกมากในการให้เห็นภาพรวมของจังหวัด มิใช่ต่างคนต่างทำ
มีผู้ร่วมเสวนาต่างถิ่นถามว่าถ้าอยากทราบแหล่งท่องเที่ยวของลำปาง จะทราบได้อย่างไร มีผู้ตอบว่าหาทางอินเตอร์เนต แล้วจะมีสักกี่คนที่ใช้อินเตอร์เนต เราควรมีแผ่นพับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในลำปางอย่างแพร่หลาย สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ตามโรงแรมต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวควรมีที่ใหม่ๆ ด้วย เช่น วัดปงสนุก หล่มภูเขียว เกาะคาแมน เป็นต้น

ในประเด็นที่จะให้คนลำปางร่วมไม้ร่วมมือกัน ถามว่าใครควรเป็นหัวเรือใหญ๋ บางคนเสนอว่า ต้องผู้ว่าสิ มีคนตอบว่าได้ยินผู้ว่าอมรพันธุ์บอกว่า ท่านผู้ว่าจะเป็นหน่วยสนับสนุน แต่ต้องให้ชุมชน คนในพื้นที่เป็นหลัก ในการดำเนินการเรื่องการท่องเที่ยว หรือไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้คนร่วมมือกันอย่างจริงจัง พ.อ.สันดุษิต ดีบุกคำ ให้ความเห็นว่า ประการแรกต้องให้คนลำปางรู้จักตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง ถึงจะมีความกระตือรือร้นที่จะพูดถึงเมืองลำปาง มีแผนชุมชน ประการที่สอง ระดับจังหวัดต้องเล่นด้วยมีแผนแม่บท ประการที่สาม ต้องใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย เรียนรู้จากเขา คนที่จิตอาสามีอยู่ อาจจะไม่ต้องจ้างแพงๆก็ได้

มีคนพูดถึงประเด็นความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว เป้าหมายอาจไม่ไช่ต้องการคนมาเที่ยวมากๆอย่างเดียว ต้องรักษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านด้วย ท่านภราเดช พยัควิเชียร เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีชุมชนใดอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยวอย่างเดียว ชุมชนควรจะดำเนินตามวิถีของตนเอง ถ้ามีคนมาท่องเที่ยวเราก็มีรายได้เพิ่ม ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็ไม่เดือดร้อน อ.ประสงค์เล่าถึง หลวงพระบาง เนปาล การเดินทางก็ลำบาก มิได้สะดวกสบาย แต่มีคนไปเยี่ยมชมมากมาย เพราะเขารักษาวิถีชีวิตของเขา รักษาภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม ให้น่าอยู่ ไม่ทำลายธรรมชาติ ยกตัวอย่าง ฝรั่งแวะไปชมไร่สัปปะรดที่บ้านเสด็จ ดูท่าจะมีมากกว่าคนไปแวะอุทยานถ้ำผาไทเสียอีก ทำไม บางทีคนกำลังเกี่ยวข้าว ตีข้าว ดำนา ฝรั่งสนใจใหญ่ จอดรถ ถ่ายรูปกันเต็ม เราไม่ต้องแต่งอะไรมากมายเพื่อการท่องเที่ยว แต่ให้รักษาวิถีชีวิตไว้ เดี๋ยวการท่องเที่ยวจะตามมาเอง

มีการพูดถึงการจัดอีเวนท์ต่างๆของจังหวัด เช่น รถไฟรถม้า งานเซรามิก ว่าการเอาเงินมาทุ่ม เสียเปล่าหรือไม่ หรือเอาเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืน รักษาวิถีชีวิต เช่น บ้านควาย จังหวัดสุพรรณบุรี อนุรักษ์ควาย เอาควายมาไถนา ก็พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว ก็อย่าให้เสื่อมโทรม เช่น ภาพเขียน ๓,๐๐ ปี ที่บริเวณเจ้าพ่อประตูผา หรือ เกาะคาแมน ที่ดูจะเสื่อมไป ไม่รักษาสภาพต่างๆ ให้ดูเรียบร้อย น่าเยี่ยมชม แล้วมาถึง สกายวอร์คที่แจ้ช้อน ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง การจะรักษาให้คงอยู่ น่าเยี่ยมชม ต่อไปอย่างยั่งยืน มีเรื่องมากมายที่จะต้องกระทำ และมาเรียนรู้ร่วมกัน เช่นนี้ แหล่งท่องเที่ยวจะยั่งยืน ตราบจนลูก จนหลาน ให้ได้เก็บเกี่ยวกิน

ท้ายสุด ได้พูดถึง การมีมัคคุเทศน์รุ่นจิ๋ว ที่วัดไหล่หิน วัดปงสนุกที่ได้รับรางวัล merit of herritage แห่งเดียวของประเทศไทย ก็รับทราบมาว่า กำลังฝึกมัคคุเทศน์รุ่นจิ๋วอยู่เหมือนกัน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายในลำปาง ที่รอชุมชนช่วยดูแล และพัฒนา และอย่าลืม การร่วมมือของชาวลำปาง เพื่อลำปาง โดยมิได้สนใจว่าอยู่ในการเมืองฝ่ายใด เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น: