โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๖ เมืองเก่า เอาจะได ?

ถ้าเซเว่นอีเลเว่นโผล่กลางกาดกองต้า
ตึกแถวสามชั้นกำลังผุดตรงกลางเมืองเก่าของลำปาง
เราชาวลำปาง จะทำอย่างไร

เมืองเก่า เอาจะได ?

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๖ เวทีเสวนาของคนลำปาง
ยามเช้าเก้าโมงครึ่งถึงเที่ยง อาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ นี้
ณ บ้านร้อยปี เลขที่๑ ถนนป่าไม้ (สำนักงานป่าไม้เขตเดิม)

ผู้ร่วมนำเสวนา
ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว นักวิชาการด้านเมืองเก่า
อ.สุวภรณ์ ชูโต ตัวแทนชุมชนบริเวณเมืองเก่า
คุณวัยวุฒิ ศรีรัตน์ นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ
ผอ.อรรณพ สิทธิวงค์ ผอ.ส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง เทศบาลนครลำปาง
คุณอโณทัย ใจแก้ว ตัวแทนเยาวชนบริเวณเมืองเก่า
อ.ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น ผู้ดำเนินการเสวนา

นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี



วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

สรุปแบบสอบถามความคิดเห็นหลังเสวนาป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่๒๕ เก๊าจาว กาดหมั้วร้อยปี

แบบสอบถามความคิดเห็น

ขอความอนุเคราะห์จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตอบแบบสอบถามตามความคิดเห็นโดยอิสระ เพื่อข้อมูลดังกล่าวจะเป็นใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมต่อไป และส่งคืนเจ้าหน้าที่

1.เพศ 20…. ชาย ...10.... หญิง

2.อายุ 1…น้อยกว่า 20ปี ...11.... 20-40 ปี ..18.... 41ปี ขึ้นไป

3. ท่านทราบข้อมูลการจัดกิจกรรมจากแหล่งใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1ข้อ)

..7...ป้ายโฆษณา ....3.. วิทยุ ....4..หนังสือพิมพ์ ..14...คนรู้จัก ..1....อื่นๆ

ทำเครื่องหมายลงในช่องตามระดับความพึงพอใจ

มาก

ปานกลาง

น้อย

ไม่มีความเห็น

ก.ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม

9

16

2

1

ข.ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม

11

18

1

1

ค. รูปแบบของการจัดกิจกรรม

7

20

2

1

ง. เอกสาร หรือข้อมูลที่ได้

8

18

3

1

จ. การมีส่วนร่วมของผู้ร่วมกิจกรรม

10

14

4

2

ฉ. การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อกิจกรรม

6

13

8

3

ช. ความประทับใจโดยรวมต่อกิจกรรม

13

14

1

1

ซ.อยากให้มีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีก

19

9

0

1

5.ท่านคิดว่ากิจกรรมครั้งนี้จะส่งผลดีต่อชุมชน หรือไม่ เพียงใด

...11... ดีมาก ..12.... ดี ...4... พอใช้ ....1...ไม่ส่งผล ....0... ส่งผลแย่

6.ท่านมีความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชุมที่ท่านอาศัย เพียงใด

(ระดับ 1น้อยที่สุด ระดับ10มากที่สุด)

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

1 = 0 2=0 3=0 4=1 5=0 6=2 7=6 8=4 9=3 10=10

จำนวนประชากรทั้งหมด 30 ท่าน

7.ข้อเสนอแนะ

-ผมไม่ทราบว่ามีการจัดกิจกรรมแบบนี้ทุกปีหรือเปล่า แต่ถ้าหากเป็นไปได้ก็จะดีมาก เช่น กิจกรรมตลาดเก๊าจาวประจำปี เป็นตลาดย้อนยุค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของกิจกรรมในทุกๆ ปี

-การจัดเสวนาครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นในการบันทึกประวัติศาสตร์ และทิศทางการพัฒนาตลาดเก๊าจาวและชุมชนรถไฟ และหวังว่ากิจกรรมดีๆ อย่างนี้จะได้มีการจัดอีกหลายๆครั้ง และต่างสถานที่เพื่อให้เกิดการร่วมมือของชุมชนเพื่อพัฒนาต่อไป

-น่าจะมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้ และน่าจะประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มวัยรุ่นได้รับรู้ข้อมูลประวัติศาสตร์บ้างเมืองบ้าง

-ควรเชิญคนเฒ่าคนแก่ที่หลากหลายมาเล่าสู่กันฟัง การจัดสถานที่ให้ดีกว่าเดิมด้วย

-เป็นการเริ่มต้นที่ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม(ชุมชนเก๊าจาว) และเป็นเวทีที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดีในวันข้างหน้าด้วย ยินดีร่วมกิจกรรมต่อไป (คนอยู่ชุมชนท่าคราวน้อย)

-เป็นกิจกรรมที่ดี ทำให้ชุมชนตื่นขึ้น และเห็นความสำคัญ รักชุมชนมากขึ้น

-ชุมชนรถไฟน่าจะมีการเพิ่มชื่อพ่วงท้าย เก๊าจาว เพราะเก๊าจาวก็เป็นชุมชนหนึ่งที่คู่ขนานกับรถไฟมาตลอด โดยใช้ชื่อว่า ชุมชนรถไฟและเก๊าจาว

-ควรจัดช่วงเช้า หรือประมาณบ่ายสี่โมงเย็น

-จัดดีแต่มีแต่แกนนำ ช่วงเวลาน่าจะเป็น 17.00 20.00 น. จะมีคนมากกว่านี้

-อยากจะให้รณรงค์การพัฒนาภูมิทัศน์ของเสาหลักกิโลยักษ์ เพื่อเป็น land mark ของลำปางใน

อนาคต ให้โครงการปะกั๋นยามแลง ควรจะจัดเสวนาร่วมกับชมรมถ่ายภาพนครลำปาง เพื่อจะวางเป้าหมายร่วมกัน ให้ชมรมถ่ายภาพฯ จัดกิจกรรมถ่ายรูปตามแนวที่ตกลงกัน..เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากรูปถ่ายเหล่านั้นในอนาคต

-ขอให้ประชุมอย่างนี้ทุกๆปี

-น่าจะมีการขายของพื้นบ้านประกอบให้ได้บรรยากาศ จำลองเหตุการณ์แบบเก่าให้ได้เห็น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดบรรยากาศ หาแนวทางพัฒนาและอนุรักษ์ความเป็นพื้นเมือง (เอกลักษณ์) จากผู้สนใจกิจกรรมพื้นบ้าน

-สถานที่ค่อนข้างร้อนค่ะ

-อยากให้มีการประชุมหรือเสวนาแบบต่อเนื่องเพื่อที่จะฟื้นฟูให้คนรุ่นใหม่ได้รับทราบ และอยากให้ทางชุมชนและเทศบาลประสานไปทางรถไฟให้สร้างศาลาอเนกประสงค์ขึ้นใหม่เพื่อที่จะสะดวกในการประชุมในโอกาสต่อไป

-การร่วมกิจกรรมของคนในชุมชน โดยเฉพาะแม่ค้า คนค้าขายให้ความสนใจน้อย ทั้งๆที่เป็นชุมชนของตัวเอง ต้องวิจัยหาคำตอบกัน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในชุมชนอื่น ครั้งต่อไปมิใช่จัดแล้วจัดเลย ซึ่งมันคงเสียเวลาทั้งคนจัดและคนมาร่วม ควรหาอะไรที่น่าสนใจ จูงใจในการจัดกิจกรรม โดยหาความร่วมมือของคนในชุมชนให้มากๆ จะได้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้ เป็นความรู้ของชุมชนด้วย หมายเหตุ การจัดกิจกรรมอะไร หากคนในชุมชน คนมีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมงานน้อย ไม่ให้ความสนใจ ก็ถือว่าการจัดนั้น นับว่าล้มเหลวกันเสียแล้ว ต้องค้นหาสาเหตุเพื่อจะได้ปรับปรุงให้ดี น่าสนใจ กันในครั้งต่อไปด้วย

เสวนา สนทนาสถานที่ต่างๆ อดีต ใช้เวลา 10% เพื่อทราบจุดเริ่มต้น ความเป็นมา มีปัญหาก็แก้อะไรไม่ได้ เรื่องเล่าจริง? ปัจจุบัน ใช้เวลา 70% เพื่อทราบปัญหาปัจจุบัน การแก้ไขอย่างไร มีเรื่องมากและแก้ไขได้ อนาคต ใช้เวลา 20% เพื่อทราบแนวทางอนาคต จะได้วางแผนกันให้ดี ระดมความคิดเห็น

-ควรมีการประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ ผมเพิ่งรู้ก่อน 10 นาที ว่ามีกิจกรรม

-บริเวณจัดกิจกรรมที่นี้ไม่เหมาะกลิ่นไม่ค่อยดี น่าเข้าไปจัดในตลาดเลย

-ช่วงเวลาเย็นกว่านี้น่าจะดี

-การประชาสัมพันธ์และบอกวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนให้ทั่วถึงจะได้ข้อมูลและความคิดเห็นได้มากกว่านี้ ถ้าให้ดีใช้วิธีชวนกันโดยตรงจากคนรู้จักในชุมชน

ขอขอบคุณอำนวยที่ช่วยทำแบบสอบถาม และช่วยสรุปแบบสอบถาม ครับ

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

สรุปป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่๒๕ เก๊าจาว กาดหมั้วร้อยปี





















ภาพด้านบนนี้เป็นภาพที่ อ.จันทร์สม กล่าวถึง สมัยท่านเด็กๆ


กาดที่ยาวขนานไปกับทางรถไฟ

สองภาพล่างนี้อ.บัญญัติว่าเป็นกาดเก๊าจาวยุคแรกๆเพราะว่าจำต้นโพธิได้

เรามาเริ่มเตรียมเวทีเสวนากันตั้งแต่เช้า ของวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษจิกายน ๒๕๕๓ จัดตรงตลาดเก๊าจาวเลย ข้างๆป้อมตำรวจ มีการรวบรวมภาพเก่าๆจากชุมชน ทั้งมีคนเอื้อเฟื้อมาให้ เป็นภาพที่หายากเหลือเกิน และเป็นการจัดแสดงภาพครั้งแรกของกาดเก๊าจาว พอบ่ายๆผู้เข้าร่วมเสวนาก็ถยอยกันมา ผู้นำเสวนา ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง อ.บัญญัติ วัตถพาณิชย์ ผู้อาวุโสชุมชนรถไฟนครลำปาง อ.จันทร์สม เสียงดี อดีตผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลนครลำปาง คุณยรรยง เลิศเชวงกุล ประธานชุมชนรถไฟนครลำปาง และตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ คุณภานุพันธ์ ขันติพงษ์ และนายแพทย์โกมล ภัทรฤทธิกุล ผู้ดำเนินการเสวนา ในบรรยากาศที่แช่มชื่น สบายๆ และเวทีได้ต่อเสียงตามสายของกาดเก๊าจาวให้ชุมชนได้ฟังกันอย่างทั่วถึง เพราะมีบางคนสะดวกที่จะนั่งฟังกันในบ้านของตนเอง

อ.บัญญัติ เริ่มก่อนในฐานะผู้อาวุโสสุด วัย ๘๘ ปี แม่ของท่าน ยายของท่านอยู่กาดเก๊าจาวตั้งแต่เริ่มมีตลาด ท่านเล่าว่าท่านเป็นเชื้อสายจีนไหหลำ แม่ของท่านมาขายของในตลาดตั้งแต่อายุ ๑๔ หรือ ๑๕ ปี แต่งงานตอนอายุ ๒๑ ปี เกิดอ.บัญญัติ อายุ ๒๒ ปี เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๖๗ ท่านประมาณว่า ตลาดน่าจะมีอายุราวๆ ๙๔ ถึง ๙๗ ปี สมัยท่านเด็กๆ แม่น้อย ยายแก้ว(แม่และยายของอ.บัญญัติ) และแม่เล่าให้ท่านฟังว่า ช่วงสร้างทางรถไฟมาถึงลำปาง มีต้นจาวลำต้นสามคนโอบ ขึ้นบนทางรถไฟที่จะก่อสร้าง ก็ให้คนงานฟัน คนงานบางคนฟันครั้งเดียวก็เป็นลมไป บางคนฟัน ๓-๔ ครั้งก็หน้ามืดไป ฟันไม่ได้ ไม่มีใครฟันได้ ร้อนถึงวิศวะกรชาวไทยและวิศวะกรชาวเยอรมัน บอกว่าถ้าจะสร้างอ้อมต้องอ้อมไปอีกไกล หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องไปทูลพระเจ้าเหนือหัวรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงพระราชทานธงประจำพระองค์พื้นสีเหลืองครุฑสีแดงเป็นตัวแทนพระองค์มา คนงานถึงฟันต้นจาวนี้ได้ บริเวณนี้มีการถมเนินดินให้เป็นทางสูงราว ๔ เมตร ห่างจากแม่น้ำ ๕๐ เมตร มีการสร้างสะพานดำ ส่วนสะพานขาวคือสะพานรัชฎาภิเศก ตลาดเก๊าจาวยุคแรกๆเป็นช่วงเริ่มสร้างทางรถไฟ เป็นกาดน้อยๆเพิงหมาแหนมุงตองตึง ต่อมาเป็นหญ้าคา ขายแกงตุ่น แกงแค ลาบจิ้น แกงอ่อม มีเมี่ยง มีพลู (คนสมัยก่อนไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง เคี้ยวหมาก เคิ้ยวพลูกัน) พอมีไฟไหม้ช่วงสงครามโลก ก็เปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ แต่กระบื้องดินขอเวลาแตกเป็นอุปสรรคกับการเดินรถไฟ สุดท้ายก็มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์บนห้องแถวไม้สองชั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ตลาดเก๊าจาวมีชื่อจริงว่า ตลาดรัตน์ ตั้งชื่อตามหลวงเสรีเริงฤทธิ์รัตนยนต์ ผู้ว่าราชการรถไฟ แต่ชาวบ้านจะเรียกกันตลาดเก๊าจาว ไม่มีใครเรียกตลาดรัตน์ กาดเก๊าจาวเคยผ่านน้ำท่วมใหญ่ ๒ ครั้ง ฟ้าผ่า ไฟไหม้ สมัยก่อนไม่มีเหมือง ไม่มีฝาย พอฝนตก น้ำจะท่วม ( ไฟไหม้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๖ น้ำท่วมใหญ่ช่วง พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งหนักกว่าช่วง พ.ศ.๒๕๔๘)

ท่านต่อไปที่จะมาเล่าให้ฟังถึงกาดเก๊าจาวเป็นรุ่นที่ถัดจากอ.บัญญัติมา อ.จันทร์สม เสียงดี คุณพ่อของท่าน พ่อก๋องคำ พรหมไชยวงศ์ เป็นเพื่อนกับคุณยนต์ ใยบัวเทศซึ่งทำงานกับการรถไฟ จึงชวนกันมาเช่าที่จากทางรถไฟทำห้องแถว ให้เช่าบ้าง เก็บแปะเจี๊ยบ้าง รูปที่อ.จันทร์สมคุ้นเคยในสมัยเด็กๆคือรูปที่มีแขกขายผ้ายืนอยู่ ท่านเป็นเด็กก็วิ่งเล่นอยู่ในกาด บ้านของท่านเปิดร้านขายของติดกับสโมสรรถไฟ แม่ของท่นเปิดร้านขายยา พี่สาวท่านเปิดร้านขายของชำ ท่านก็อยู่กาดนี้มาตั้งแต่เด็กๆ มาตลาดทุกวัน ตอนนี้ปลดเกษียณแล้ว สมัยก่อนทางรถไฟจะมีสองชั้น ชั้นล่างจะมีรถรางบรรทุกแร่บ้าง ไม้บ้าง แถวนี้จะเป็นที่วิ่งเล่น เล่นตี่บ้าง เล่นชักว่าวบ้างขึ้นไปเล่นบนสะพาน ถ้าจะเอาด้ายก็ไปขอจากโรงทอผ้าที่อยู่ใกล้ๆ หรือลงไปเล่นน้ำ ห้องแถวก็ขายกับข้าวสุก จิ้นส้มบ้าง แกงกระด้าง แถวร้านขายยา ร้านขายน้ำแข็งมือ เสาร์อาทิตย์จะมีคนมาเล่นมายากล กลางคืนก็จะมีหนังมาขายยา ขายเร่ เจ็ดวันเจ็ดคืน คนจะมาจองกันนั่งข้างหน้า ถ้าใครมานั่งบัง นั่งหน้าเรา ที่สโมสรจะมีเครือเขา เราก็จะเอาเครือเขาดีดใครจะมาบังเราไม่ได้ ซึ่งเด็กๆในกาดเก๊าจาวจะมีความสุขมาก สมัยเด็กๆบ้านอ.จันทร์สมทำโรงไอติม ไอติมซานตาคลอส อาจารย์จะขายไอติมที่ใส่ไอติมจะเป็นหวายไว้สะพายบ่า เดินไปขายถึงหน้าอรุโณทัยโน้น เมื่อก่อนแถวโรงแรมทับทิมทอง พื้นโรงแรมจะมีเล่นอุปรากรจีน(เล่นงิ้ว-ผู้บันทึก) เล่นริวคิว เล่นไพ่นกกระจอก แถวหน้าสถานีรถไฟมีน้ำพุ รูปร่างเหมือนอย่างครก น้ำพุเป็นสีๆ นั่งรถม้าห้าสตางค์ไปดูกัน นอกจากโรงแรมทับทิมทองแล้วยังมีโรงแรมรัตนเขลางค์ ซึ่งต้องพื้นจะเป็นกาดแลง(ตลาดตอนเย็น-ผู้บันทึก)มีโรงแรมรถไฟ ถ้าไปอีกหน่อยจะมีโรงงิ้วหลังแบงค์กรุงเทพ ส่วนโรงลิเกข้ามทางรถไฟไปก็จะมีแถวนาก่วม อ.จันทร์สมได้กล่าวถึงคุณฤทธิชัย อดีตแชมป์มวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งสมัยเด็กๆช่วงน้ำท่วมใหญ่ ก็เอากะลามังมาลอยน้ำ อ.สุเทพ(อดีตรองอธิการบดีราชภัฏลำปาง) ท่านเสริมว่าแถวคลินิกหมอสุธีตอนนี้ แถวนั้นจะเป็นสหกรณ์เกลือ เด็กๆผู้ชายจะไปท้าตีท้าต่อยแถวๆโรงเรียนเทศบาล๕ และท่นยังบอกว่าท่านมีรูปเก่าๆมาก ใครสนใจสามารถติดต่อท่านได้ คุณหมอมงคล จิวะสันติการ เล่าให้ถึงสมัยเด็กๆว่า ผมเป็นเด็กสบตุ๋ย แต่ว่าเล่นน้ำก็จะมาเล่นแถวสะพานดำ แก้ผ้าโดดน้ำ เล่นน้ำเสร็จ แถวนี้จะปลูกมัน ก็จะไปแอบขุดมัน กางเกงยังไม่ได้นุ่ง เจ้าของไร่มันมาไล่ รีบใส่กางเกง รูดซิบ ซิบติด..โอ้ยเจ็บมาก จำแม่นมาก ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แถวนี้จะมีทุ่ง ต้นไม้ ผีเสื้อมาก จับผีเสื้อ ยิงนก ใช้ก๋งยิง หาปลา ขากลับไปสบตุ๋ย จะห้อยรถวัวกลับ รถม้ากลับสบตุ๋ย สุดท้ายเจ้าของรถม้ารำคาญเอาลวดหนามมาขึงเพื่อกันไม่ให้เด็กมาห้อย อ.สุเทพเสริมว่า เมื่อก่อนเล่นน้ำถอดกางเกงกัน แอบมาเล่นน้ำ อ.ประพิศตามมาเก็บยึดกางเกงหมด

ท่านต่อมา ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ท่านเล่าว่าเด็กท่านก็อยู่แถวนี้ ทำงานตั้งแต่เด็กๆ บอกว่าเรื่องราวต่างๆที่เล่ากันมามีความสำคัญมาก มาปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวของบ้านเมือง ถ้าเราไม่เล่าสู่กันฟัง ไม่บันทึกไว้ก็จะค่อยๆเลือนหายไป คำว่าพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตอะไร แต่มีสามารถได้ทุกที่ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า side museum ซึ่งพวกเราสามารถเรียนรู้ ซึบซับได้อย่างง่ายดาย ท่านบอกว่าถ้าป๊ะกั๋นยามแลงมีเรื่องราวต่างๆมากพอ ถ้าอยากรวบรวมบันทึกไว้เพื่อศึกษา เทศบาลจะเป็นเจ้าภาพให้ ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งอายุหกรอบพอดีอยู่แถวย่านรัษฎา สมัยเด็กก็มาเก๊าจาว จำขนมวง น้ำอ้อย อ้อยซ่อม ข้าวแต๋น(ซึ่งไม่เหมือนข้าวแต๋นในปัจจุบัน) ข้าวจี่ได้ และจำได้ว่ามีบ่อน้ำอยู่บ่อหนึ่ง คนเฒ่าคนแก่บอกเป็นบ่อน้ำทิพย์ เวลาไม่สบายก็จะใช้ผู้ร่วมเสวนาท่านนี้มาตัก ขี่จักรยานมาไกลมาก เหนื่อยมากกว่าจะถึง บางทีเด็กก็ตักน้ำข้างทางมาให้คนเฒ่า คนเฒ่ากินก็บอกว่าหาย บ่อน้ำทิพย์กาดเก๊าจาวนี้ดีจริงๆ

ผู้นำเสวนาอีกท่าน คุณยรรยง ประธานชุมชนรถไฟนครลำปาง ท่านบอกมีความตั้งใจที่จะทำให้กาดเก๊าจาวที่มีชีวิตนี้ยืนหยัด รักษาอนุรักษ์ไว้ คนที่มาขายของก็จะเป็นชาวบ้าน เอาผักพื้นบ้านมาขายวางตามพื้น ทุกวันนี้ก็มีอยู่ ท่านภูมิใจที่ได้ทำงานเป็นประธานชุมชน มีทีวีมาถ่ายทำหลายช่อง เห็นกาดเก๊าจาวออกทีวีขนลุกซู่่เลย ท่านอยากทำให้เป็นตลาดร้อยปีมีคนมาร่วมชื่นชม ทำแสงสีเสียงคล้ายสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี ถ้าทำได้ถ้าพวกเราช่วยกัน ส่วนคุณภานุพันธ์ ขันติพงษ์ ตัวแทนเยาวชน ท่านมาพูดความประทับใจสมัยท่านเด็ก และเสนอข้อคิดในการพัฒนาตลาดเก๊าจาวหลายประการ อีกท่านที่ขึ้นมาร่วมให้ความเห็น คุณสมบูรณ์ คุรุภากรณ์ สมาชิกเทศบาลนครลำปาง ท่านเป็นผู้จัดการตลาดด้วย ในส่วนที่เป็นตลาดไม่รวมห้องแถว ได้มีส่วนที่พัฒนาตลาดหลายอย่าง ท่านบอกว่าในส่วนห้องแถว ตอนนี้ค่อนข้างจะทรุดโทรม มีวิธีอยู่สองอย่าง คือหนึ่งสร้างใหม่โดยใช้แบบที่คงอนุรักษ์ไว้เหมือนดั้งเดิม วิธีที่สองคือค่อยซ่อมของเดิม เสริมโครงสร้างอนุรักษ์ของเก่าไว้ วิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายมากต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก ทุกวันนี้ทางผู้เช่ายังมีเรื่องที่ ไม่เข้าใจกับทางรถไฟอยู่ ในเรื่องค่าเช่าและการปรับปรุงห้องแถวไม้สองชั้น ในประเด็นนี้มีคนเสนอให้ความเห็นหลายท่าน ที่บริเวณนี้เป็นที่ของการรถไฟ ทางเทศบาลจะมาร่วม หรือทำอะไรก็ต้องประสานกับทางรถไฟ การพัฒนากาดเก๊าจาว ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนต้องร่วมแรงกัน ผู้ที่มาจัดการก็ต้องมีความจริงใจ ต้องการพัฒนาตลาดเก๊าจาวอย่างแท้จริง ท้ายสุดสิ่งที่เสนอจะให้มีการจัดการอย่างรีบด่วน คือเรื่องสายไฟบริเวณห้องแถวต้องทำใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันอัคคีภัย เทศบาลคงต้องเป็นตัวหลักในเรื่องนี้ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายอาจต้องค่อยๆทยอยเก็บจากชาวบ้าน เสวนาป๊ะกั๋นยามครั้งที่ ๒๕ เรื่อง เก๊าจาว กาดหมั้วร้อยปี ก็จบลงอย่างแช่มชื่น อิ่มเอิบในทุกๆคนที่มาร่วมเสวนา
ท้ายสุดต้องขอขอบคุณ ชุมชนกาดเก๊าจาวที่มาร่วมกันจัดเสวนาครั้งนี้ให้เกิดขึ้นได้ มีขนมนมเนยมาเลี้ยงกัน ขอบคุณเทศบาลนครลำปางที่มาช่วยตั้งเครื่องเสียงและช่วยถ่ายทำวีดีโอ ขอบคุณทุกๆท่านครับ