โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สรุปป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๔



คนลำปางกับแนวทางสู้วิกฤตหวัด ๒๐๐๙
วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ หน้าทิพย์อินน์เกสต์เฮาส์ กาดกองต้า
เริ่มด้วยทางสาธารณสุขจังหวัดลำปาง มาร่วมกันให้ความรู้ จัดแผ่นป้ายให้ความรู้ แจกหน้ากากอนามัยสำหรับคนที่เป็นหวัดแล้วมาเดินกาดกองต้า จำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ล้างมือราคาถูก สาธิตการทำเจลแอลกอฮอล์ แจกแผ่นพับความรู้เกี่ยวกับไข้หวัด ๒๐๐๙ ยกทีมมามากมายทั้งเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครเยาวชนที่น่ารัก บีบเจลแอลกอฮอล์ใส่มือคนที่เดินผ่านไปผ่านมา และมีวงดนตรีเอ็นสะแหม่งนำโดยลุงน้ำชา และนักดนตรีอีกสามท่าน นำหีบเพลง แบนโจ กีต้าร์ และสาวน้อยมาสีไวโอลินในช่วงหลัง สร้างความบันเทิงแก่คนที่มาเดินกาดกองต้า ทั้งไทยทั้งเทศ พอถึงหนึ่งทุ่มตรง คุณหมอชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ผศ. พวงน้อย แสงแก้ว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตัวแทนผู้ดูแลสุขภาพ ผู้นำการเสวนา และคุณพรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล ผู้ดำเนินการเสวนา สรุปใจความที่สำคัญในการเสวนามีดังนี้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ ๒๐๐๙ ยังจะมีการระบาดอีกนาน จนกว่าเมืองไทยจะมีวัคซีนใช้ การที่คนแทบทั้งหมดไม่มีภูมิค้มกันต่อไข้หวัดนี้ทำให้คนเป็นกันมาก จึงทำให้มีคนเป็นภาวะแทรกซ้อนมาก การตายก็มีมากขึ้นด้วย แต่เมื่อเทียบสัดส่วนการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ทั่วๆไป ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ ๒๐๐๙ ความสำคัญอยู่ที่การป้องกัน
คนที่เป็นหวัดทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยเพราะจะป้องกันการติดต่อไปคนอื่นได้ถึงร้อยละ ๘๐ สำหรับคนทั่วไปป้องกันโดยอย่าเอามือถูปาก ถูจมูก ถูตา ถ้าจะถูก็ล้างมือให้สะอาดเสียก่อน ล้างตามปกติหรือใช้เจลแอลกอฮอก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัส ๒๐๐๙ ได้ การดูแลสุขภาพนอกจากการออกกำลังกาย การกินอาหารให้ถูกหลัก กินผักให้มากๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ การทำจิตใจให้ผ่องใส มองโลกในแง่ดี ก็มีส่วนทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ป้องกันไข้หวัดไหญ่ได้

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุป ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๓ เสน่ห์ของกาดกองต้า
















วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ หนึ่งทุ่มตรง ทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์ กาดกองต้า

ผู้ร่วมนำเสวนา คุณกิตติภูมิ นามวงค์ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง อ.วิสิฐ ตีรณวัฒนากูล นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม คุณเกียรติชัย มานะศิลป์ ตัวแทนคณะกรรมการบริหารงานกาดกองต้า คุณธนัสฆ์ จงปํญญานนท์ ตัวแทนคนเดินถนนคนเดินกาดกองต้า
เริ่มด้วย อ.วิสิฐ เล่าถึงความเป็นมาของกาดกองต้า เป็นแหล่งชุมชนตลาดจีนเก่าริมแม่น้ำวัง เมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีตึกราบ้านช่อง สถาปัตยกรรม หลากหลาย งดงามควรแก่อนุรักษ์ คุณกิตติภูมิ และคุณเกียรติชัย เล่าถึงถนนคนเดินกาดกองต้า ว่าเริ่มมาได้อย่างไร กว่าจะเป็นดังทุกวันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะคนในชุมชน คุณธนัสฆ์ บอกถึงว่าทำไมถึงชอบมาเดิน ถนนคนเดินกาดกองต้า เพราะมีของขายหลายอย่าง ทั้งสินค้าแฟชั่น และของทำมือ หัตถกรรม มีคนเดินมากมาย เดินแล้วสนุก มีความสุข

คุณเกียรติชัย ตัวแทนตลาดกล่าวว่า คณะกรรมการตลาด อยากให้มีสินค้าทำมือ สินค้าพื้นเมืองมากขึ้น ให้ความสำคัญมากกว่าสินค้าแฟชั่น เพราะสินค้าแฟชั่นสามารถหาซื้อได้ทั่วๆไปอยู่แล้ว แต่เด็กๆที่ชอบเดินกาดกองต้าที่นั่งร่วมฟังเสวนาด้วย บอกว่าต้องมีของแฟชั่นด้วย เพราะชอบดู ชอบซื้อ จะแบ่งเป็นโซนๆได้หรือไม่ มีคนเสนอเข้ามาในเรื่องของห้องน้ำ และถังขยะ เรื่องของห้องน้ำสามารถเข้าได้ตามร้านที่ขายของ บางที่ก็ต้องเสียค่าบริการ สำหรับการดูแลทำความสะอาด ส่วนเรื่องถังขยะ สามารถฝากตามร้านขายของได้ จะมีถุงดำไว้คอยรับขยะจากคนที่เดินในถนนคนเดิน

สิ่งที่สำคัญมากที่พูดคุยกันว่าทำอย่างไร เราจะทราบความเป็นมาของตึกแต่ละหลัง และเราสามารถเปิดบ้านที่เก่าแก่ สถาปัตยกรรมงดงามให้คนเดินเข้าไปชมได้หรือไม่ หรือในเวลากลางวัน หรือที่ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ ถ้านักท่องเที่ยวอยากมาเดินในกาดกองต้า จะมีที่ให้เขาได้เรียนรู้หรือไม่ สามารถเปิดบ้านสักหลัง ที่บอกประวัติความเป็นมาของกาดกองต้า เรื่องราวต่างๆที่ควรกล่าวถึง ให้นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มาเยี่ยมชม ได้รับทราบ ได้ซึมซับ จะได้หรือไม่ เรื่องต่างๆเหล่านี้คงจะทำให้ขึ้นมาโดยชุมชนริเริ่มอย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องอาศัยเทศบาลนครลำปาง หรือจังหวัดเป็นตัวจักรที่สำคัญ ถึงจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้

อ.วิสิฐ พูดถึง สิ่งที่หายไปในกาดกองต้าของเรา ตึกบางหลัง หรือ บ้านที่ทาสีชมพู อาจารย์เล่าถึง ที่เชียงคาน จ.เลย บ้านของเขาไม่ได้มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมเทียบเท่ากาดดองต้าได้ แต่เขาสามารถรักษาบ้านทุกหลังให้คงสภาพเหมือนเดิม คงบรรยากาศของวิถีชาวบ้านดั่งเดิมไว้ได้ และออกกฎห้ามไม่ให้ เซเว่น อีเลเว่น ไปตั้งในเชียงคาน เพราะจะทำลายบรรยากาศ ภูมิทัศน์ของเชียงคาน มีคนตั้งคำถามว่า ถ้า เซเว่น จะมาตั้งในกาดกองต้า จะสามารถตั้งได้หรือไม่

อีกประเด็นที่มีคนร่วมเสวนานำเสนอ ช่วงที่มีถนนคนเดิน สามารถเปิดวัดเกาะ ให้วัดเกาะสว่างไสว ให้คนเข้าไปสักการะ เพื่อให้ถนนกาดกองต้าเรา มีเรื่องของศาสนา วิถีพุทธ จะเพิ่มเสน่ห์ของกาดกองต้ามากยิ่งขึ้น หรือน้ำวังของเราสามารถให้นักท่องเที่ยวล่องเรือ ชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำวังจะเป็นไปได้หรือไม่ มีคนกล่าวเสริมขึ้นมาว่า เบื้องต้นคงต้องให้น้ำวังของเรามีน้ำเสียก่อน

ท้ายสุด รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง คุณกิตติภูมิ นามวงค์ รับปากว่าเรื่องของกาดกองต้า ทั้งชุมชนและถนนคนเดิน จะจัดให้มีการพูดคุย สัมมนาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยเทศบาลนครลำปางเป็นเจ้าภาพเพื่อก่อให้เกิดการอนุรักษ์ พัฒนาก้าวย่างอย่างมีคุณค่าต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เก็บตก ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๒ เมื่อกระเป๋าฉีกจะทำอย่างไร


คุณพจน์ เพียรจริง ตัวแทนภาคการเงิน บอกว่า ถ้าเราเป็นหนี้ธนาคาร เราควรจะใช้ให้ตามกำหนดถ้าเราไม่ใช้หนี้ตามกำหนด สุดท้ายธนาคารก็ทวงหนี้เราจนได้ ถึงขึ้นโรงขึ้นศาล ถ้ามีอะไรก็คุยประนอมหนี้กับธนาคารได้
เรื่องจำนวนเงินที่ส่งต่อเดือน หรืออย่างไรก็คุยกันได้ ท้ายสุดคุณพจน์ฝากเรื่องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง สร้างความสมดุลในชีวิต
หนานชาญ อุทริยะ แห่งบ้านสามขา แม่ทะ สิ่งสำคัญเราต้องตัดรายจ่าย การตัดรายจ่ายเหมือนเราเพิ่มรายได้ให้ตนเอง เช่น ถอดปลั๊กตู้เย็น เลิกสะสมที่จะกิน ไม่ต้องเปลืองค่าไฟฟ้า กินผักกินปลารอบๆบ้านเรา กินอาหารทีละมื้อไม่ต้องสะสมไว้ เช่น ซื้อเนื้อมาเยอะๆ ดีไม่ดีเน่าเสียในตู้เย็น มีของในตู้เย็นที่เน่าเสียมากมาย เสื้อผ้าก็ใส่ชุดม่อฮ่อมแบบนี้ ไปตลอดไม่ต้องเปลืองสตางค์มาก การรวมกลุ่มกันออมทรัพย์ กู้กันในกลุ่ม รักษาสัจจะ เป็นพลังของชุมชน
ป้านิตยา ช่างสกุล บอกแม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่เป็นหนี้เป็นสินกัน ต้องกู้นอกระบบ เพราะกู้ธนาคารไม่ได้ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนที่เป็นหนี้เค้าไม่จ่าย ก็หนี ถูกทำร้ายก็มี ต้องคุยกันอย่าหนี การใช้เท่าที่มีเป็นสิ่งจำเป็น

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๓ เสน่ห์ของกาดกองต้า


เสน่ห์ของกาดกองต้า เสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ หนึ่งทุ่มตรง ทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์ กาดกองต้า
กาดกองต้า นับเป็นชุมชนเก่าแก่ เป็นแหล่งวัฒนธรรม ตึกรามบ้านช่องที่ทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม และปัจจุบันเป็นถนนคนเดินของคนลำปาง ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ เชิญพวกเรามาร่วมพูดคุยกันถึง ชุมชนกาดกองต้า และกาดกองต้าถนนคนเดินถึงทิศทางการดำรงอยู่และสิ่งที่จะดำเนินต่อไปของชุมชนและถนนคนเดินเพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวลำปางทุกคนตราบนานเท่านาน
โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ คุณกิตติภูมิ นามวงค์ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง,
อ.วิสิฐ ตีรณวัฒนากูล นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม,
คุณไตรเทพ บุญเฮง ตัวแทนคณะกรรมการบริหารงานกาดกองต้า,
คุณสุทธิพันธ์ สุริยะ ตัวแทนคนเดินถนนคนเดินกาดกองต้า
และ นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุล ผู้ดำเนินการเสวนา
นั่งฟรี ฟังฟรี พูดฟรี

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สรุปป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๒ เมื่อกระเป๋าฉีกจะทำอย่างไร











หนึ่งทุ่มตรง วันที่ ๒๐ เสาร์ที่สามของเดือนมิถุนายน
ผู้ร่วมนำเสวนา คุณพจน์ เพียรจริง ตัวแทนภาคสถาบันการเงิน
คุณชาญ อุทริยะ จากชุมชนบ้านสามขา อำเภอ แม่ทะ
คุณนิตยา ช่างสกุล ตัวแทนชาวบ้านและแม่ค้าในตลาด
ผู้ดำเนินการเสวนา นายสมชาย พงศ์จิระเวโรจน์

*1.เศรษฐกิจไทยในภาพรวมล้วนมีผลกระทบในทุกๆด้านไปจนถึงตัวเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสถานการณ์ คนตกงาน ทำงานเงินเดือนน้อย ควรทำอย่างไร? ทางออกมีหลายวิธี ภาคประชาชนชาวบ้านทั่วไป อาจใช้วิธีกู้ยืม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจถึงร้อยละ 10-20(กู้นอกระบบ) ตามความต้องการหรือความเดือดร้อนมาก-น้อยเท่าไร? หรือการขอกู้ยืมเงินสินเชื่อจะทำได้อย่างไร ภาคประชาชนหรือชาวบ้านอาจใช้วิธีเปิดบัญชีกระแสรายวัน ส่วนผู้ที่ทำงานมีเงินเดือนประจำอาจทำเรื่องเปิดใช้บัตรเครดิต
ในอดีตวงเงินอนุมัติการเปิดใช้บัตรเครดิตอยู่ที่ 7,000 บาท แต่ในปัจจุบันได้มีการขยายวงเงินการอนุมัติเปิดใช้บัตรเครดิตที่ 15,000 บาท เพียงแต่ทุกคนอาจลืมคิดไป ประชาชน 1 คน อาจมีบัตรเครดิตไว้หลายใบหากมีคุณสมบัติและทำถูกต้องตามกฎการขออนุมัติการใช้บัตรเครดิต ซึ่งถือเป็นสิ่งขาดการควบคุมอย่างเคร่งครัดกลายเป็นผลเสียและเป็น
เหตุให้ลืมตน ใช้เงินเกินความจำเป็นของตนทำให้ปัญหาตามมาภายหลัง ผู้ที่มีวินัยด้านการเงินดีจะสามารถแก้ไขให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำไปได้ ในการกู้ยืมเงินธนาคาร เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ถึงจุดสูงสุด ธนาคารจำเป็นต้องทำตามกฎเกณฑ์ ซึ่งในฐานะตัวแทนภาคสถาบันการเงิน มีความกังวลและเตือนว่านี่อาจเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งในหลายคนอาจคิดว่าเพราะขั้นตอนทางกฎหมายนั้นช้ามาก ซึ่งนั่นเป็นอดีต แต่ในปัจจุบันมีขั้นตอนทางกฎหมายที่รวดเร็วขึ้น อย่าได้นิ่งนอนใจ
การทำสัญญาข้อตกลงการจัดส่งเงินธนาคาร หากมีการจัดส่งเงินเกินตามข้อตกลงถือเป็นสิ่งดีทั้ง 2 ฝ่ายแต่หากส่งชำระเงินต่ำกว่าสัญญาข้อตกลงหรือกระทำการล่าช้าผิดจากสัญญาอาจทำให้มีผลตามข้อกฎหมายในทันที และอาจโดนปรับถึงร้อยละ 15
1. การค้ำประกัน มีข้อแนะนำการค้ำประกันสำหรับบุคคลผู้ต้องค้ำประกันควรค้ำประกันเป็นบางส่วน หรือเฉพาะส่วนที่สามารถรับผิดชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันสิ่งใดก็ตาม โดยสามารถกระทำได้ ณ เวลานั้น พยายามค้ำให้เป็นวงเงินเฉพาะ เวลาทำสัญญาควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน แม้แต่ธนาคารบางแห่งเช่นกัน ซึ่งอาจตกลงกันและร่างทำสัญญาในกระดาษเปล่า ซึ่งอาจเกิดผิดพลาดเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลังเนื่องจากมิได้พิมพ์เป็นรูปแบบเอกสารที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น ญาติท่านกู้เงิน 100,000บาท ท่านอาจค้ำในวงเงิน 100,00บาทเท่านั้น
2. การผ่อนชำระบัตรเครดิต เช่นเดียวกันหลังจากได้เกิดการผ่อนชำระเสร็จสิ้นไปถึงร้อยละ 30-50 ควรเจรจาต่อรองกับธนาคาร การใช้วิธีประนีประนอมจะส่งผลดีและเป็นที่พอใจกับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหากท่านเจรจากับธนาคาร โดยทั่วไปธนาคารมักจะยินยอม เนื่องด้วยหนี้บัตรเครดิตมีความเสี่ยงสูงต่อการหมดอายุความ เพราะมีอายุความเพียง 2 ปี
ข้อดีของยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ฝึกให้เรารู้จักพอเพียง หรือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตน เช่น ใช้พื้นที่ว่างภายในที่พักอาศัยปลูกผัก หรือทำอะไรที่แก้ปัญหาด้วยตนเอง มิใช่หวังพึ่งน้ำบ่อหน้า เช่น ธนาคารหรือรัฐบาล

*2. สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน สภาพโดยรวมควรมุ่งเน้นลดอัตราการบริโภค จากการวิจัยในปี๒๕๓๙ ปัญหาหนี้สินมาจากการอุปโภค-บริโภคเกินความจำเป็น การแก้ไขปัญหาไม่ควรเอาเงินเป็นที่ตั้งสำหรับการแก้ปัญหา ถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหาโดยนำเรื่องเงินเป็นที่ตั้งอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นได้ในภายหลัง อาทิเช่น ครอบครัวขาดความอบอุ่น ทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคมตามมาอย่างมิได้ตั้งใจ การแก้ไขปัญหาสภาวะวิกฤติ ทำได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้คือ
1. การลดรายจ่าย (ซึ่งเท่ากับเพิ่มรายได้) ในระดับบุคคล,ครอบครัว,ชุมชน
2. ด้านชุมชนควรใช้วิธีรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา หรือรวมตัวกันเพื่อสร้างมาตรการรองรับเรื่องค่าใช้จ่ายภายในชุมชน
การหาทางแก้ไขปัญหาและทางออก ในบางครั้งอาจสวนกระแสกับกระแสหลักโดยส่วนใหญ่ เป็นการแก้ปัญหาโดยลดรายจ่ายตนเอง ลดสิ่งฟุ่มเฟือยของตนรวมไปจนถึงของสมาชิกในครอบครัว สามารถสรุปแนวทางดังนี้
1. มีความพอเพียง
2. ควรมีการกินอยู่ตามที่มีอยู่จริง ใช้เท่าที่มีอยู่ หากมีความจำเป็นอย่างเลี่ยงมิได้ จึงค่อยใช้จ่ายทรัพย์บางอย่าง การใช้จ่ายทรัพย์เกินความจำเป็นทำให้เรานิสัยเสีย
เคยตัวกับความสบาย ใช้จ่ายเงินเกินตัว
สำหรับชุมชน ก่อนทำสิ่งใด ควรหาข้อมูล และนำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง ทั้งควรรู้จักการจัดทำบัญชีการเงินเพื่อสำรวจรายรับ-รายจ่าย ของตนเอง ในทุกๆบาท ทุกๆด้าน รวมไปถึงการจัดระบบการนำเงินออกใช้ส่วนตัวด้วย ในทุกๆครั้ง ควรเน้นการมีส่วนร่วม-มีวินัยในตนเองซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากสังคมทั้งภายในและภายนอก เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของบ้านสามขา อ.แม่ทะ
ใช้ชุมชนเป็นหลัก ช่วยกันออมเพื่อจัดทำเป็นเงินกู้ภายในชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินทุนอื่นๆจากภายนอก ควรดูรายรับของตนเอง แล้วประเมินเพื่อพิจารณาว่าจะจ่ายอย่างไร ไม่บริโภคตามกระแส ตามค่านิยม เพื่อผ่านพ้นวิกฤติทางการเงิน จำเป็นต้อง “กำหนดมาตรฐานตนเอง” ซึ่งหากมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก

*3. กล่าวถึงการค้าขายภายในตลาดปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การจับจ่ายใช้สอยในตลาด ไม่ค่อยพบเห็นกลุ่มเยาวชน (วัยรุ่น)มาเดินตลาดสด สังคมปัจจุบันมีความเจริญเติบโต การเลือกที่จะบริโภคมีมากขึ้น ทำให้เกิดการปลูกฝังค่านิยมด้านการบริโภคที่ผิดเพี้ยนไปอาทิ ค่านิยมการบริโภคอาหารฟ้าดฟูด ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินตัว ความจริงผู้ปกครองควรรู้จักปลูกฝังในการบริโภค การจับจ่ายในสถานที่ใกล้ตัว เช่น ตลาดสด แทนการจับจ่ายและการบริโภคอาหารฟ้าดฟูดตามค่านิยมในห้างสรรพสินค้าซึ่งมีราคาแพง เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายภายในกระเป๋า ประหยัดขึ้นทั้งยังรู้จักสถานที่รับประทาน ที่ประหยัด และอิ่มท้องมากกว่า และเป็นการสอนให้รู้ถึงการจ่ายเงินที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับชุมชนคนที่ค้าขายในตลาดทั่วไป มีหนี้สินเยอะเช่นกัน เนื่องด้วยประมานตนไม่ถูกว่าควรจะทำการค้าขายอย่างไรให้มีความพอเหมาะพอดี เพื่อลดต้นทุน เช่นท่านขายข้าวราดแกง ควรพิจารณาจำนวนและพฤติกรรมของลูกค้า ว่ามีจำนวนและความต้องการมากน้อยต่างกันอย่างไร จะทำข้าวราดแกงปริมาณเท่าไรต่อวัน กี่อย่างต่อวัน รวมถึงวัสดุที่นำมาจัดทำว่าควรใช้ปริมาณเท่าไร ที่ก่อให้เกิดความประหยัด
ลดรายจ่ายเรื่องต้นทุน ลดภาวการณ์ขาดทุนและ (นิสัย) ความจำเป็นในการกูยืนเงินทั้งในระบบและนอกระบบ
การกู้ยืมเงินนอกระบบ ควรมีความยืดหยุ่น ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ให้กู้ และ ผู้กู้ ควรหันหน้าเข้าหากันให้ความร่วมมือต่อกัน โดยเฉพาะผู้กู้ ไม่ควรหลีกเลี่ยง หลบหน้า หากชำระไม่ตามกำหนดระยะเวลา ซึ่งถือเป็นการยั่วโมโหผู้ให้กู้ ควรจะคุยกันมากกว่าถึงเหตุผลความจำเป็น และผู้ให้กู้ก็ควรมีความยืดหยุ่นสำหรับผู้กู้บ้าง
สำหรับผู้ค้าขายนั้น (รวมถึงทุกๆท่าน) ควรใช้วิธีการหากินแบบพอเพียง ค้ากำไรตามสมควรและคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย ไม่หวังผลกำไรเกินควร ในปัจจุบันการค้าขายควรรู้จักค้าขายตามกระแสนิยม ตามความเหมาะสมด้วย เช่น ฤดูฝน ขายร่มในปริมาณที่พอดี ไม่ลงทุนจนหมดทีเดียวและไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็นของตนเอง
ทุกคนควรมีความพยายามประหยัดในทุกๆด้าน ทั้งควรสำรวจตัวตนทุกครั้งเพื่อจะได้รู้ว่าตนควรประหยัดเช่นไรนั่นเอง

ผู้บันทึก คุณวสุธา เทพวงศ์ (วีนัส) ผู้เรียบเรียง นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุล