โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สรุปป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๘ วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒















เพศที่สาม ธรรมด๊า ธรรมดา
ทุ่มนิดๆของวันเสาร์ที่สามเดือนกุมภาพันธ์ เสวนาป๊ะกั่นยามแลงครั้งที่ ๑๘ ก็เริ่มขึ้น นำโดยอ.อนุกูล ศิริพันธ์(อ.ปิงปอง) , คุณวสุธา เทพวงค์ (วีนัส) นักศึกษาวิทยาลัยอินเตอร์เทค, คุณไชยวัฒน์ เทพสิงห์ (โบว์)นักศึกษาวิทยาลัยอินเตอร์เทค ,คุณปิยะพงษ์ เปี้ยปลูก(อ้น) มหาวิทยาลัยศรีประทุม และ คุณหมอจิตแพทย์เด็กและเยาวชน พญ.วชิราภรณ์ อรุโณทอง จากโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โดยมีอ.อนุกูลและคุณหมอโกมล ภัทรฤทธิกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
เริ่มต้นมาให้คำนิยามกับคำต่างๆก่อน เกย์ กะเทย ตุ๊ด เลสเบี้ยน ทอม ดี้ ไบ เก้งกวาง ฯลฯ ยาวเหยียด (บอกกระดาษเอสี่ ก็จาระไนยไม่หมด) ส่วนทางคุณหมอวชิราภรณ์ บอกโลกของเรามีสามอย่าง หนึ่ง Heterosexual ชายจริงหญิงแท้ สอง Homosexual ชอบรักอยากมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน สาม Transexual แปลไปตรงๆก็มีการไหลไปมาระหว่างชายหญิง ไม่ชัดเหมือนสองกลุ่มแรก ต่อมาก็คุยในประเด็นที่ว่ารู้ตัวเมื่อไรที่มารักมาชอบเพศเดียวกัน
อ้อ! บนเวทีไม่มีตัวแทนของหญิงรักหญิง ตกปากรับคำว่าจะมา พอวันจริง ไม่ได้มา ส่วนข้างล่างเห็นมานั่งอยู่หลายคู่ แต่ถามความเห็น ก็ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร
ก็เป็นปรากฏการณ์ของ กลุ่มหญิงรักหญิงในลำปางอย่างหนึ่ง เสียดายไม่ได้ฟังความคิดเห็น ถ้ามีโอกาสอาจจะจัดพูดคุยโดยเฉพาะของกลุ่มหญิงรักหญิงในลำปาง ไม่ทราบจะเป็นไปได้หรือเปล่า มาสู่ประเด็นเดิมเรื่องการว่ารู้ตัวเมื่อไรที่รักผู้ชายด้วยกัน บนเวทีตอบว่า พอเริ่มจำความได้ก็มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้หญิง บ้างก็ตอบว่า สี่ห้าขวบ หรือบอกว่าช่วงเจ็ดแปดขวบรู้สึกสับสน แต่พอโตขึ้นก็ชัดเจนขึ้น การยอมรับของพ่อแม่ ผู้ปกครอง แรกๆยอมรับไม่ได้ แต่ต่อไปก็เข้าใจ มีแม่ของกลุ่มเกย์(ความหมายในบทความนี้ หมายถึง กลุ่มที่ชายรัก หรือ ชอบ หรือ อยากมีเพศสัมพันธ์กับชาย ทั้งหมด) ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ยอมรับได้ตอนลูกอยู่มอสาม แต่คุณพ่อขณะนี้ยังยอมรับไม่ได้ ตอนนี้ลูกก็เกือบเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านให้ความเห็นต่อว่า ไม่สำคัญว่าลูกจะเป็นเพศอะไร สำคัญว่าเป็นคนดีหรือไม่ ทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่นหรือเปล่า
อีกประเด็นที่สำคัญ พ่อแม่ของกลุ่มชายรักชาย บางครั้งโทษคุณครูที่จับลูกของตนแต่งตัวสวยๆ ทาหน้าทาปาก รำละคร ตั้งแต่ตอนเด็กๆ หรือ อยู่ในกลุ่มหรือพี่น้องเป็นผู้หญิงทั้งนั้น สิ่งแวดล้อมมีส่วนทำให้เด็กเป็นเพศที่สามใช่หรือไม่ คุณหมอวชิราภรณ์แยกตอบ ในกลุ่มชายรักชาย เหมือนถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น สิ่งแวดล้อมคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อก่อนทางวงการแพทย์ ถือว่าเป็นความผิดปกติ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ระบุว่าเป็นเรื่องผิดปกติทางการแพทย์ ส่วนในหญิงรักหญิง เด็กผู้หญิงที่อยู่ในโรงเรียนหญิงล้วน ความเป็นนักกีฬา ความเป็นฮีโร่ อาจทำให้ดูเหมือนผู้ชาย ผู้ปกป้อง คุ้มครอง แต่พอออกจากโรงเรียนหญิงล้วน
ก็เป็นผู้หญิงจ๋า แต่งตัวสวยไปก็มี หรือแบบที่โตมาแล้วอยากเป็นผู้ชายตั้งแต่เล็กๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็มี มีความหลากหลายมากกว่า ส่วนชายรักชายจะให้เปลี่ยนแปลงทีหลังหรือตอนโต เท่าที่มาเสวนากัน ยังไม่เคยพบ
ปัญหาการไม่ยอมรับในเพศที่สามของสังคมไทย ทำให้เกย์ต้องมาแต่งงานกับหญิงแท้ แล้วเกิดปัญหาแตกแยก เสียอกเสียใจกันภายหลังก็มีไม่น้อย การไม่ยอมรับของพ่อแม่ ทำให้ลูกเครียด ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ก็พบได้ การไม่ยอมรับของผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทย ทำให้พื้นที่สาธารณะของเพศที่สามดูคับแคบลง อย่างการจะจัดงานของกลุ่มเกย์ในเชียงใหม่ ก็ถูกห้าม บอกว่าทำให้เสื่อมเสียวัฒนธรรมของชาวล้านนา ? มิติของสังคมในเรื่องนี้ ถ้ามองให้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือน ผู้หญิง ผู้ชาย คนหนึ่ง เพศที่สาม (queer) ก็เป็นคนคนหนึ่ง ธรรมด๊า ธรรมดา
มีบ้างว่าเกย์มีความสนใจในเรื่องเพศมากกว่าคนทั่วไป น่าจะเป็นเพราะเกย์ หรือ กะเทย ฯลฯ กล้าแสดงออกมากกว่า มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า จะไปเปรียบเทียบกับผู้หญิงไม่ได้ ทำไมวิ๊ดว้ายกระตู้วู่เกินหญิง เพศที่สามก็เป็นเพศที่สามจะไปเปรียบกับเพศอื่นไม่ได้ นี้คือความหลากหลายของคน ของมนุษย์ ของโลกนี้
ส่วนเรื่องการที่จะให้คนทั่วไปมองเกย์อย่างไร ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเกย์ ความพอดี การรู้จักกาละเทศะ ซึ่งก็ต้องมีในทุกเพศเช่นกัน
มุมมองทางศาสนา พระเกย์ในลำพูน เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และมีในทุกวงการ ในความเห็นของวงเสวนา เกย์ก็ควรบวชได้ ถ้าสามารถรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ เป็นหนึ่งในพุทธศาสนิกชน ที่ช่วยจรรโลงพุทธศาสนาได้ และเหมือนในทุกวงการ ที่คนเพศที่สามสามารถทำประโยชน์เท่าชายจริงหญิงแท้ เพียงแต่ขอให้ยอมรับเหมือนคนทั่วๆไป ไม่ต้องเห็นใจ หรือสงสาร ขอให้มองเป็นเรื่องธรรมดาๆ
ท้ายนี้การจบเสวนา จบด้วยความสุข อยากให้มีการพูดคุยแบบนี้อีก และเท่าที่ทราบ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในลำปางที่คุยเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังและในที่สาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น: