โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๑๐ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๑



ลำปางจะเตรียมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไร

๑ ทุ่มตรง ผู้นำเสวนา คุณสุรพล ตันสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง , คุณสัลเลข คำใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง , คุณทิวา พันธ์ไม้สี หัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจังหวัดลำปาง , คุณทวีศักดิ์ คุณาชีวะ ผู้จัดการแผนกปฏิบัติการน้ำมัน คลังปิโตรเลียมลำปาง , คุณอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำ คุณสมจิตร อำนาจศาล หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักชลประทานที่ ๒ ลำปาง และ นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุล ผู้ดำเนินการเสวนา

เรื่องที่เราคุยกัน คุยถึงเรื่องน้ำว่าลำปางเรา
จะมีน้ำผ่านราว ๖๐๐ ล้านลบ.เมตร
เขื่อนกิ่วลมรับได้ราว ๑๑๒ ล้านลบ.ม.
ถ้าเขื่อนกิ่วคอหมาเสร็จก็จะรับเพิ่มได้อีก ๑๗๐ ล้านลบ.ม.

และน้ำที่มาจะมาช่วง ๓-๔ เดือน น้ำที่เหลือก็ต้องปล่อยทิ้งไป ถ้าน้ำมามาก มีพายุก็มีโอกาสน้ำท่วมได้ การบริหารจัดการน้ำ ต้องทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม และมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ถ้าน้ำมามากเราสามารถสังเกต ได้จากสีที่ทาตามคอสะพาน หรือริมตลิ่ง สีแดง น้ำท่วมแน่ สีเหลืองต้องระวังไว้ สีเขียว
ปลอดภัย

ส่วนเรื่องสภาพฝนฟ้าอากาศ อุตุนิยมวิทยาบอกว่า เราสามารถรู้ล่วงหน้าได้ราว ๕ วัน พอรู้แล้วก็ประชาสัมพันธ์ตามวิทยุตามสื่อต่างๆ ชาวบ้านบอกว่าภาษาที่อุตุนิยมวิทยาใช้ ให้ใช้ภาษาง่ายๆ อย่างน้อยนักจัดรายการตามวิทยุต่างๆต้องเข้าใจแล้วอธิบายให้ชาวบ้านฟังเข้าใจได้ และเราสามารถรู้สภาพอากาศทางอินเตอร์เนตได้ด้วยตัวเอง

ถ้ามีเรื่องฉุกเฉินให้แจ้งโดยตรงต่อชาวบ้าน ใช้รถกระจายเสียง มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๔๘ ทำอย่างไรก็ได้ให้ชาวบ้านเชื่อ จะได้เตรียมตัวทัน ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเทศบาลต้องประสานกันสื่อกับชาวบ้านให้ได้

ส่วนเรื่องพายุหมุน ลมกรรโชกแรง บางครั้งจะเกิดเป็นจุดๆ เช่น ที่หน้าบิ๊กซี เมื่อราว ๑๐ วันก่อน ถ้าสิ่งก่อสร้างใดก่อสร้างตามมาตราฐาน จะไม่เกิดปัญหา วันนั้นเกิดความเสียหายพอสมควร ทางลำปาง ทางเทศบาลกำลังจะมาดูเรื่องสิ่งก่อสร้าง ที่ต่อเติมไม่ได้มาตราฐาน หรือป้ายต่างๆ เห็นทางรองนายกเทศบาลว่าต้องรื้อราวครึ่งหนึ่ง พวกเราคงต้องยอมรับกัน เพื่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน ไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องก่อนค่อยมาคิดทำ

ส่วนเรื่องถังแก๊สคู่ น้ำมันแพงคนใช้แก๊สมาก มีแก๊สบรรจุอยู่ไม่มาก และมาตราฐานความปลอดภัยต่างๆ ไว้วางใจได้ ฐานที่ตั้งถังแก๊สรับแรงแผ่นดินไหวได้ถึง ๗ ริกเตอร์ เรื่องแผ่นดินไหว เมืองไทยเราแทบทั้งหมดไม่เกิน ๕ ริกเตอร์ แต่ในภาวะโลกร้อนแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่างไรเราควรมีความรู้ว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหว เราต้องปฏิบัติตนอย่างไร

ท้ายสุดมีคนบอกว่าน้ำวังเราแห้งเหลือเกิน ทำอย่างไรให้มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดทั้งปี คนลำปางเราจะได้มีจิตใจที่ชุ่มฉ่ำ เจริญหูเจริญตา คนผ่านไปผ่านมาก็พลอยชื่นชมไปด้วย ฝากไว้ว่าน่าจะมีวิธีการ คงไม่เกินกำลังที่พวกเราทุกคนจะช่วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น: