โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ก๊ะว่ากำเมืองจะตึ๊กแล้วก๊า?..มาฟังคำตอบ



หลังจากลุ้นอยู่ว่าฝนที่ตกลงมาในบ่ายแก่ๆวันเสาร์ที่ 20 กันยา 51 ซึ่งเป็นวันนัดพบครั้งที่ 13 ของป๊ะกั๋นยามแลง "ก๊ะว่ากำเมืองจะตึ๊กแล้วก๊า?" จะสร่างซาเมื่อไหร่..โชคดีวันนี้ฟ้าฝนเป็นใจ ฝนซาเม็ดไปก่อน 5 โมงเย็น กิจกรรมเราจึงได้เริ่มขึ้น..

ประมาณ 6 โมงเย็นน้องเยาวชนลำปางก็ได้ขึ้นเวทีบรรเลงดนตรี ชื่อวง Empty ยังเป็นน้องใหม่ค่ะ เวทีป๊ะกั๋นยามแลงตั้งใจว่าก่อนการเสวนาจะเริ่มในเวลาทุ่มตรงนั้น เราจะเปิดเวทีเพื่อเป็นที่ให้เด็กๆเยาวชนลำปางของเราได้มีเวทีแสดงความสามารถ อาจยังใหม่ การให้โอกาสคือการสร้างคนค่ะ ติดตามด้วยวงโฟล์คซองจาก นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ขึ้นเวทีนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

ทุ่มเศษนิดหน่อย เวทีเสวนาเริ่มต้น...โดยผู้ร่วมเสวนา..อ.อัมพร เทพปินตา รองประธานสภาวัฒนธรรม จ.ลำปาง...คุณพีรพงษ์ พอใจ ตัวแทนจากเครือข่ายสร้างสรรเด็กและเยาวชน จ.ลำปาง..ตัวแทนชาวบ้าน คุณบัวตอง ยอดกำลังและคุณทวี อุตมะ เดินทางมาจาก อ.ห้างฉัตร... โดยมีพรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล ดำเนินรายการค่ะ ( เดิมทีนั้นคุณพิมธิดา ดีบุกคำ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ แต่บังเอิญท่านป่วยกระทันหัน ขอให้หายป่วยเร็วๆนะคะ )

บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ทั้งบนเวทีและด้านล่างเวที มีผู้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจมากมาย และก็ได้รื้อฟื้นภาษิต"บ่าเก่า"หลายบทโดยผู้รู้หลายท่าน อ.อัมพร เทพปินตา,ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว หรือแม้แต่เยาวชนอย่างน้องพีรพงษ์ก็เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี

กล่าวโดยสรุป...เด็กรุ่นใหม่พูดคำเมืองกันน้อยลง แม้คุณพ่อ-คุณแม่จะเป็นคนเมืองแต่ส่วนใหญ่จะพูดภาษากลางกับลูก เด็กรุ่นยิ่งเล็กยิ่งพูดน้อยลง ร่วมกันคิดว่าอาจเกิดจากการที่คุณพ่อ-คุณแม่อาจกลัวลูกจะพูดภาษากลางซึ่งเป็นภาษาราชการไม่ชัด , ขาดความภูมิใจในความเป็นคนเมือง รู้สึกเหมือนเป็นคนบ้านนอก , มีการกดขี่กันทางภาษา เช่นคนพูดภาษากลางก็จะล้อเลียนคนพูดคำเมือง , ความรู้สึกของคนทั่วไปในเมืองกรุง ถ้าพูดถึงคำเมืองก็ต้องพูดแบบเชียงใหม่, หรือเมืองในเมืองก็จะล้อเมืองเถิน เมืองลื้อ เมืองยอง ฯลฯ จึงทำให้ขาดความมั่นใจในการพูดคำเมือง, โรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ภาษาถิ่น

วงเสวนาต่างให้ความสนใจและมีความเห็นว่าควรแล้วที่เราจะได้รื้อฟื้นให้เด็กรุ่นหลังได้พูดคำเมือง ไม่อายที่จะพูด ยิ่งพูดได้มากภาษาคือความได้เปรียบ โดยเปลี่ยนทัศนคติต่อการพูดคำเมืองเสียใหม่ ไม่กดขี่หรือล้อเลียนกัน ให้เห็นประโยชน์ที่เราสามารถพูดคำเมืองได้ , พี่บัวตองเสนอว่า โรงเรียนต่างๆให้นักเรียนแต่งชุดพื้นเมืองในวันศุกร์แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะให้มีการเรียนการสอนเป็นคำเมืองด้วย ซึ่ง อ.อัมพร เทพปินตาบอกว่าจะนำไปเรียนให้ท่านผู้ว่าฯทราบ เผื่อท่านจะเห็นชอบและให้เป็นนโยบายเพื่อการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้จริง คุณทวีย้ำอยากให้คนเมืองพูดคำเมือง แต่งตัวเมืองด้วยความภูมิใจ

สื่อมวลชนเองทั้งวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีท้องถิ่นก็มีบทบาทมากต่อการพูดและการฟังคำเมือง

ที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว..เป็นอันดับแรกที่จะทำให้เด็กพูดคำเมืองก็ควรพูดคำเมืองกับลูก น่าดีใจมีคุณแม่ท่านหนึ่งสารภาพว่าไม่ได้พูดคำเมืองกับลูกเลยทำให้ลูกสาวซึ่งมาร่วมฟังการเสวนาด้วยพูดคำเมืองไม่ได้ และต่อไปนี้จะไปพูดคำเมืองในบ้านกัน อาจยังพูดไม่ชัดไม่ถูกก็ไม่เป็นไร ของพรรค์นี้มันค่อยฝึกค่อยแก้ไขปรับปรุงกันไปได้

ต้องบอกว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจมาก หลากหลายความเห็น และจบลงตรงเวลาสามทุ่ม หวังว่าคำเมืองจะไม่"ตึ๊ก" อย่างน้อยก็รุ่นลูกรุ่นหลาน หากทุกฝ่ายมองเห็นคุณค่าและปรับทัศนคติ ให้ภาคภูมิในวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนของเรา ส่วนจะนานแค่ไหน..ก็อยู่ที่การปฏิบัติแล้วล่ะค่ะ ต้องขอบคุณทุกท่านที่มา " ป๊ะกั๋นยามแลง" นัดพบกันใหม่ครั้งต่อไป 18 ตุลาคม 51 ..

สรุปโดย...พรทิพย์ภา ภัทรฤทธิกุล