โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุป ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๓ เสน่ห์ของกาดกองต้า
















วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ หนึ่งทุ่มตรง ทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์ กาดกองต้า

ผู้ร่วมนำเสวนา คุณกิตติภูมิ นามวงค์ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง อ.วิสิฐ ตีรณวัฒนากูล นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม คุณเกียรติชัย มานะศิลป์ ตัวแทนคณะกรรมการบริหารงานกาดกองต้า คุณธนัสฆ์ จงปํญญานนท์ ตัวแทนคนเดินถนนคนเดินกาดกองต้า
เริ่มด้วย อ.วิสิฐ เล่าถึงความเป็นมาของกาดกองต้า เป็นแหล่งชุมชนตลาดจีนเก่าริมแม่น้ำวัง เมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีตึกราบ้านช่อง สถาปัตยกรรม หลากหลาย งดงามควรแก่อนุรักษ์ คุณกิตติภูมิ และคุณเกียรติชัย เล่าถึงถนนคนเดินกาดกองต้า ว่าเริ่มมาได้อย่างไร กว่าจะเป็นดังทุกวันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะคนในชุมชน คุณธนัสฆ์ บอกถึงว่าทำไมถึงชอบมาเดิน ถนนคนเดินกาดกองต้า เพราะมีของขายหลายอย่าง ทั้งสินค้าแฟชั่น และของทำมือ หัตถกรรม มีคนเดินมากมาย เดินแล้วสนุก มีความสุข

คุณเกียรติชัย ตัวแทนตลาดกล่าวว่า คณะกรรมการตลาด อยากให้มีสินค้าทำมือ สินค้าพื้นเมืองมากขึ้น ให้ความสำคัญมากกว่าสินค้าแฟชั่น เพราะสินค้าแฟชั่นสามารถหาซื้อได้ทั่วๆไปอยู่แล้ว แต่เด็กๆที่ชอบเดินกาดกองต้าที่นั่งร่วมฟังเสวนาด้วย บอกว่าต้องมีของแฟชั่นด้วย เพราะชอบดู ชอบซื้อ จะแบ่งเป็นโซนๆได้หรือไม่ มีคนเสนอเข้ามาในเรื่องของห้องน้ำ และถังขยะ เรื่องของห้องน้ำสามารถเข้าได้ตามร้านที่ขายของ บางที่ก็ต้องเสียค่าบริการ สำหรับการดูแลทำความสะอาด ส่วนเรื่องถังขยะ สามารถฝากตามร้านขายของได้ จะมีถุงดำไว้คอยรับขยะจากคนที่เดินในถนนคนเดิน

สิ่งที่สำคัญมากที่พูดคุยกันว่าทำอย่างไร เราจะทราบความเป็นมาของตึกแต่ละหลัง และเราสามารถเปิดบ้านที่เก่าแก่ สถาปัตยกรรมงดงามให้คนเดินเข้าไปชมได้หรือไม่ หรือในเวลากลางวัน หรือที่ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ ถ้านักท่องเที่ยวอยากมาเดินในกาดกองต้า จะมีที่ให้เขาได้เรียนรู้หรือไม่ สามารถเปิดบ้านสักหลัง ที่บอกประวัติความเป็นมาของกาดกองต้า เรื่องราวต่างๆที่ควรกล่าวถึง ให้นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มาเยี่ยมชม ได้รับทราบ ได้ซึมซับ จะได้หรือไม่ เรื่องต่างๆเหล่านี้คงจะทำให้ขึ้นมาโดยชุมชนริเริ่มอย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องอาศัยเทศบาลนครลำปาง หรือจังหวัดเป็นตัวจักรที่สำคัญ ถึงจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้

อ.วิสิฐ พูดถึง สิ่งที่หายไปในกาดกองต้าของเรา ตึกบางหลัง หรือ บ้านที่ทาสีชมพู อาจารย์เล่าถึง ที่เชียงคาน จ.เลย บ้านของเขาไม่ได้มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมเทียบเท่ากาดดองต้าได้ แต่เขาสามารถรักษาบ้านทุกหลังให้คงสภาพเหมือนเดิม คงบรรยากาศของวิถีชาวบ้านดั่งเดิมไว้ได้ และออกกฎห้ามไม่ให้ เซเว่น อีเลเว่น ไปตั้งในเชียงคาน เพราะจะทำลายบรรยากาศ ภูมิทัศน์ของเชียงคาน มีคนตั้งคำถามว่า ถ้า เซเว่น จะมาตั้งในกาดกองต้า จะสามารถตั้งได้หรือไม่

อีกประเด็นที่มีคนร่วมเสวนานำเสนอ ช่วงที่มีถนนคนเดิน สามารถเปิดวัดเกาะ ให้วัดเกาะสว่างไสว ให้คนเข้าไปสักการะ เพื่อให้ถนนกาดกองต้าเรา มีเรื่องของศาสนา วิถีพุทธ จะเพิ่มเสน่ห์ของกาดกองต้ามากยิ่งขึ้น หรือน้ำวังของเราสามารถให้นักท่องเที่ยวล่องเรือ ชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำวังจะเป็นไปได้หรือไม่ มีคนกล่าวเสริมขึ้นมาว่า เบื้องต้นคงต้องให้น้ำวังของเรามีน้ำเสียก่อน

ท้ายสุด รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง คุณกิตติภูมิ นามวงค์ รับปากว่าเรื่องของกาดกองต้า ทั้งชุมชนและถนนคนเดิน จะจัดให้มีการพูดคุย สัมมนาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยเทศบาลนครลำปางเป็นเจ้าภาพเพื่อก่อให้เกิดการอนุรักษ์ พัฒนาก้าวย่างอย่างมีคุณค่าต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เก็บตก ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๒ เมื่อกระเป๋าฉีกจะทำอย่างไร


คุณพจน์ เพียรจริง ตัวแทนภาคการเงิน บอกว่า ถ้าเราเป็นหนี้ธนาคาร เราควรจะใช้ให้ตามกำหนดถ้าเราไม่ใช้หนี้ตามกำหนด สุดท้ายธนาคารก็ทวงหนี้เราจนได้ ถึงขึ้นโรงขึ้นศาล ถ้ามีอะไรก็คุยประนอมหนี้กับธนาคารได้
เรื่องจำนวนเงินที่ส่งต่อเดือน หรืออย่างไรก็คุยกันได้ ท้ายสุดคุณพจน์ฝากเรื่องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง สร้างความสมดุลในชีวิต
หนานชาญ อุทริยะ แห่งบ้านสามขา แม่ทะ สิ่งสำคัญเราต้องตัดรายจ่าย การตัดรายจ่ายเหมือนเราเพิ่มรายได้ให้ตนเอง เช่น ถอดปลั๊กตู้เย็น เลิกสะสมที่จะกิน ไม่ต้องเปลืองค่าไฟฟ้า กินผักกินปลารอบๆบ้านเรา กินอาหารทีละมื้อไม่ต้องสะสมไว้ เช่น ซื้อเนื้อมาเยอะๆ ดีไม่ดีเน่าเสียในตู้เย็น มีของในตู้เย็นที่เน่าเสียมากมาย เสื้อผ้าก็ใส่ชุดม่อฮ่อมแบบนี้ ไปตลอดไม่ต้องเปลืองสตางค์มาก การรวมกลุ่มกันออมทรัพย์ กู้กันในกลุ่ม รักษาสัจจะ เป็นพลังของชุมชน
ป้านิตยา ช่างสกุล บอกแม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่เป็นหนี้เป็นสินกัน ต้องกู้นอกระบบ เพราะกู้ธนาคารไม่ได้ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนที่เป็นหนี้เค้าไม่จ่าย ก็หนี ถูกทำร้ายก็มี ต้องคุยกันอย่าหนี การใช้เท่าที่มีเป็นสิ่งจำเป็น