โปสเตอร์ป๊ะกั๋นยามแลงครั้งล่าสุด ครั้งที ๒๙

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สรุปป๊ะกั๋นยามแลงครั้งที่ ๒๑ การเรียนพิเศษกับการศึกษาเด็กไทย









ยามเย็นหนึ่งทุ่มของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ หน้าทิพย์อินน์เกสท์เฮาส์ กาดกองต้า
มีผู้ร่วมนำเสวนาดังนี้ อ.นันทกา โกมลเสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง , อ.เปรมใจ เรือนหล้า ในฐานะอาจารย์ที่เคยสอนพิเศษ และอาจารย์ที่สอนในระบบโรงเรียน และในฐานะผู้ปกครองเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษ, คุณศุภสิน วงค์บุญตัน นักศึกษาแพทย์ที่ผ่านการเรียนพิเศษมาแล้ว น.ส. ปิยาพัชร์ เรือนหล้า เด็กที่กำลังเรียนพิเศษอยู่ คุณปิยะพงษ์ เบี้ยปลูกเป็นผู้ดำเนินการเสวนา
อ.นันทกา เริ่มด้วยการให้คำจำกัดความว่า การเรียนพิเศษ คือการเสริมในสิ่งที่ขาด การเรียนควรจะเป็นการได้เรียนรู้รวมกับความบันเทิง สนุกด้วยได้ความรู้ด้วย เรียนพิเศษที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีเทคนิคในการสอนซึ่งการเรียนในโรงเรียนมีน้อยกว่ากันมาก ทางคุณครูเปรมใจกล่าวว่า ครูในโรงเรียน ในระบบ จะมีภาระอื่นนอกจากการเรียนการสอน เช่น งานพัสดุ งานบรรณารักษ์ งานประชาสัมพันธ์ ทั้งยังต้องทำผลงานเพื่อเลื่อนระดับเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนเอง ซึ้งเป็นภาระที่หนักอึ้งมาก แต่โดยส่วนตัวจะพยายามพัฒนาเทคนิคการสอน เช่นในภาษาอังกฤษ จะเอาเพลงเข้ามาร่วมด้วย หรือให้มีคำคล้องจองเพื่อง่ายต่อการจดจำ และมีคนเสริมว่า เงินเดือนครูไทย หรือข้าราชการไทย น้อยมาก เทียบกับครูเวียตนามไม่ได้เลย คนคุยต่อว่าที่ข้าราชการไทยเงินเดือนน้อย ก็เพราะคอรัปชั่นนั้นแหละทำให้มีเงินมาพัฒนาประเทศชาติน้อย อีกเรื่องความร่วมมือของผู้ปกครองของเราน้อยกว่าในต่างประเทศมาก เชิญมาแค่ปีละครั้ง สองครั้ง มากันไม่มากเลย ในต่างประเทศ ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมอย่างมากในการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน
ทางนักเรียนแพทย์คุณศุภสิน คุยต่อว่าเท่าที่นึกทบทวนพอเข้ามหาวิทยาลัย วิชาที่เรียน หรือที่ได้จากการเรียนพิเศษ นำมาใช้น้อยมากในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย และคุณค่าของการเรียนพิเศษ ก็เพื่อใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น เพื่อนนักเรียนแพทย์ด้วยกันมีที่ไม่เรียนพิเศษและสอบเข้าแพทย์ได้ แต่มีจำนวนเล็กน้อยราวๆ ๕%
น้องปิยาพัชร์ เด็กนักเรียนชั้น ม. ๕ บอกว่าทุกวันนี้ มีความจำเป็นที่ต้องเรียนพิเศษ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามคณะที่ต้องการ ผู้ปกครอง อ.เปรมใจ ก็เสริมว่าถ้าเรามีเรี่ยวแรงพอที่จะส่งเสริมลูกเราก็ทำเต็มที่ เพื่อให้เดินไปตามที่ลูกปรารถนา และนี้เป็นสิ่งทำให้ลูกของตนหรือเด็กทั่วประเทศเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่กรุงเทพ หรือที่ไหนก็จะได้เรียนเหมือนๆกัน (มีบางคนเสริมว่า เท่าเทียมได้แต่ต้องมีเงิน เด็กส่วนใหญ่ของประเทศนี้ คงไม่สามารถเท่าเทียมด้วยวิธีนี้ได้) ที่ร่วมคุยกันเสวนากัน มีความเห็นตรงกันว่า การที่เด็กเรียนพิเศษ เพื่อที่จะสอบเข้าในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการเท่านั้น การเรียนพิเศษที่มีอย่างล้นหลามก็มาจากระบบการศึกษาไทยในการเข้าเรียนต่อ
มีผู้เข้าร่วมเสวนา มากันสองแม่ลูก ลูกชาย คุณแม่บอกว่า การเรียนพิเศษทำให้เวลาของครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกันหายไป ไม่ว่าจะเป็นตอนเย็น เสาร์อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม ตนเองมีลูกสองคน คนโตไม่เรียนพิเศษเลย คนเล็กเรียน คนโตมานั่งเสวนาด้วยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตนไม่เรียนพิเศษตนเองก็มีความสุขได้ สมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยมพอตนกลับมาบ้าน ก็มีหนังสืออื่นที่ไม่ใช่หนังสือเรียนไว้อ่านมากมาย มีกิจกรรมที่น่าทำอย่างอื่นไม่น้อยกว่าการเรียนพิเศษ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ และวิชาที่น่าเรียนก็ไม่ใช่มีแต่วิชาในโรงเรียน วิชาชีวิตก็สำคัญ เช่น วิชาทำนา เลี้ยงปลา ตกปลา จักสาน ก็เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ น่าสนใจ ทุกวันนี้ คนเรียนหนังสือแข่งขันกันมากเกินไป ถีบไหล่ เหยียบหัวคนอื่นขึ้นไปเพื่อให้ตัวเอง สูงขึ้น ก้าวไปข้างหน้า
อ.นันทกา บอกว่า ทุกวันนี้เด็กเรียนพิเศษ เรียนหน้าจอทีวี และตั้งใจเรียนเหลือเกิน เหมือนเด็กดอยเรียนทางไกลจากดาวเทียมไทยคม ถ้าเด็กเรียนในห้องเรียนขมีขมันเหมือนตอนเรียนพิเศษหน้าจอทีวี คงรู้เรื่องและไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษ สมัยตนเองเป็นนักเรียนก็ไม่ได้เรียนพิเศษ เพื่อนๆช่วยกันสอนกันเอง ไม่ชอบเรียนพิเศษ คนสอนพิเศษจะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทางผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งบอกว่า คนเราไม่ต้องแบบเดียวกันหมดก็ได้ เรียนหนังสือ เรียนพิเศษ พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ พยายามเรียนสูงๆ เพื่อจบมาจะได้มีงานทำ มีเงินเยอะๆ แต่งงานมีครอบครัว แล้วก็วนเหมือนเดิม ยกตัวอย่าง นักเขียน แดนอรัญ ขณะทำงานมีเงินเดือนแพงๆ ก็ลาออกจากงานมาเขียนหนังสือ ต้องไปกวาดตลาดทุกวันพุธ เพื่อที่แม่ค้า จะเอาผัก อาหาร มาให้กินบ้าง เงินไม่ค่อยพอใช้ แต่มีความสุขกับงานที่ทำ ได้เขียนหนังสือ ได้อ่านหนังสือมากมาย หนังสือของแดน อรัญ มีชื่อเสียงในต่างแดน ประเทศฝรั่งเศส ในไทยไม่ได้รับการยอมรับ เคยอยู่ในรอบที่จะได้รางวัลซีไรต์ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะเขียนถึงรากถึงโคนเกินไป ตามความเห็นของคณะกรรมการกองประกวดซีไรต์ ตัน ภาสกรนที ( ตัน โออิชิ ) ก็จบมอสาม ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้
คุณศุภสิน นักเรียนแพทย์ บอกว่า อาจารย์แพทย์กล่าวว่า เด็กไทยที่ทำคะแนนได้ดี คือคนที่เก่งในการทำข้อสอบ แต่ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด ถ้าคนไทยเรียนหนังสือแบบนี้ อีก ๑๐๐ ปีก็ผลิตพัดลมไม่ได้ ได้แต่เลียนแบบเก่งที่สุด สังเกตว่าในระดับมัธยม เด็กไทยเราจะได้เหรียญทองโอลิมปิกมากมาย แต่คนไทยไม่เคยได้รางวัลโนเบลถึงแม้จะเป็นมาตรฐานทางตะวันตกก็ตามทีเถอะ ระหว่างที่เสวนามีคนที่เดินกาดกองต้าเดินผ่านหยุดฟัง จบจากอังกฤษ ทุกวันนี้สอนนักศึกษาระดับโทเฟล บอกระบบการศึกษาไทย กอ ขอ คอ งอ สอนให้จำ ไม่สอนให้คิดเป็น ฝรั่ง แต่ละวิชาจะต้องมีคำถามว่า วิชานี้ จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง เรียนเพื่อนำไปใช้ สามารถประยุกต์ได้ มีคนฝากความเห็นมาว่า คนไทยเวลาเรียนหนังสือในต่างประเทศ เก่งทฤษฎีมาก ไม่มีใครสู้ได้ แต่เวลานำไปใช้ หรือการคิดทั้งระบบ การมองภาพกว้าง เราสู้พวกฝรั่งไม่ได้เลย
อ.นันทกา เรียก childcenter ว่า ควายเซ็นเตอร์ คือ เด็กไม่ได้ถูกฝึกให้คิด มีแต่ให้ทำการบ้าน เด็กจบมหาวิทยาลัยออกมา ไม่มีความอดทน ไม่มีความรู้ ทำงานไม่เป็น เป็นอย่างนี้เกือบทั่วประเทศ ท้ายสุดก็สรุปกันว่า ถึงแม้ระบบการศึกษาไทยเป็นแบบนี้ เราก็จะทำในส่วนที่เราทำได้ ให้เด็กเรียนรู้อย่างคิดเป็น และมีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น: